วันอาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

8. ขั้นตอนการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา



        สถานศึกษา หมายถึง เอกสารที่เป็นตัวกำหนดวิธีการหรือแนวทางการจัดการศึกษาในโรงเรียน หลักสูตรสถานศึกษาที่มีคุณภาพจะต้องเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของบุคลากรทุกคนในสถานศึกษา รวมทั้งบุคลากรที่เกี่ยวข้องนอกสถานศึกษา เพื่อระดมความคิด ประสบการณ์ มาใช้ในการกำหนดหลักสูตร พัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนด และตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติของการศึกษา


            ก่อนการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา จำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เช่น
  • การสร้างความตระหนักให้ผู้เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญและยอมรับ
  • การพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความเข้าใจหลักสูตร การใช้หลักสูตร และการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา
  • การแต่งตั้งคณะกรรมการของสถานศึกษาคณะต่างๆ ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ และตามความจำเป็นของสถานศึกษา
  • การจัดทำระบบสารสนเทศใช้ในการจัดการศึกษา
  • การจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพ
กระบวนการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา


  1. การกำหนดวิสัยทัศน์ ภารกิจ เป้าหมาย
สถานศึกษาจำเป็นต้องกำหนดวิสัยทัศน์เพื่อมองอนาคตว่าโลกและสังคมรอบๆ จะเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร และสถานศึกษาจะต้องปรับตัว ปรับหลักสูตรอย่างไร จึงจะพัฒนาผู้เรียนให้เหมาะสมกับยุคสมัย ในการสร้างหลักสูตรสถานศึกษา สถานศึกษาต้องมีวิสัยทัศน์ซึ่งทำได้โดยอาศัยความร่วมมือของชุมชน พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ ผู้เรียน ภาคธุรกิจ ร่วมกันกับคณะกรรมการสถานศึกษาแสดงความประสงค์หรือวิสัยทัศน์ที่ปรารถนาให้สถานศึกษาเป็นสถาบันพัฒนาผู้เรียนที่มีพันธกิจ หรือภาวะหน้าที่ร่วมกันในการกำหนดงานหลักที่สำคัญๆ ของสถานศึกษา พร้อมด้วยเป้าหมาย แผนปฏิบัติการ และการติดตามผล ตลอดจนการจัดทำรายงานแจ้งสาธารณชนและส่งผลย้อนกลับให้สถานศึกษา เพื่อการปฏิบัติงานที่เหมาะสมตามหลักสูตรของสถานศึกษา และจุดหมายของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของชาติที่กำหนดไว้

วิสัยทัศน์
  • เป็นเจตนารมณ์ อุดมการณ์ หลักการ ความเชื่อ อนาคตที่พึงประสงค์ เป็นการคิดไปข้างหน้า มีเอกลักษณ์
  • สามารถสร้างศรัทธา และจุดประกายความคิดในสภาพการพัฒนาสูงสุด

ภารกิจ
  • แสดงวิธีดำเนินการของสถานศึกษาเพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ และนำไปสู่การวางแผนปฏิบัติต่อไป

เป้าหมาย
  • กำหนดเป็นความคาดหวังด้านคุณภาพที่เกิดกับผู้เรียน ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ที่สถานศึกษากำหนด และสอดคล้องกับจุดหมายของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน
    2.  การกำหนดคุณลักษณะอันพึงประสงค์

สถานศึกษาต้องร่วมกับชุมชนกำหนดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ เพื่อเป็นเป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียนด้านคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยม

หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน มุ่งพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็นคนดี มีสติปัญญา มีความสุข และมีความเป็นไทย มีศักยภาพในการศึกษาต่อและประกอบอาชีพ จึงกำหนดจุดมุ่งหมายซึ่งถือเป็นมาตรฐานการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเกิดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ดังต่อไปนี้
  1. เห็นคุณค่าของตนเอง มีวินัยในตนเอง ปฏิบัติตนตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนาหรือศาสนาที่ตนนับถือ มีคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมอันพึงประสงค์
  2. มีความคิดสร้างสรรค์ ใฝ่รู้ รักการอ่าน รักการเขียน และรักการค้นคว้า
  3. มีความรู้อันเป็นสากล รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงและความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการ มีทักษะและศักยภาพในการจัดการ การสื่อสารและการใช้เทคโนโลยี ปรับวิธีการคิด วิธีการทำงานได้เหมาะสมกับสถานการณ์
  4. มีทักษะและกระบวนการ โดยเฉพาะทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ทักษะการคิด การสร้างปัญญา และทักษะในการดำเนินชีวิต
  5. รักการออกกำลังกาย ดูแลตนเองให้มีสุขภาพและบุคลิกภาพที่ดี
  6. มีประสิทธิภาพในการผลิตและการบริโภค มีค่านิยมในการเป็นผู้ผลิตมากกว่าเป็นผู้บริโภค
  7. เข้าใจในประวัติศาสตร์ของชาติไทย ภูมิใจในความเป็นไทย เป็นพลเมืองดี ยึดมั่นในวิถีชีวิตและการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
  8. มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ภาษาไทย ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี กีฬา ภูมิปัญญาไทย ทรัพยากรธรรมชาติและพัฒนาสิ่งแวดล้อม
  9. รักประเทศชาติและท้องถิ่น มุ่งทำประโยชน์และสร้างสิ่งดีงามให้สังคม


      3.    กำหนดโครงสร้างหลักสูตร


จากวิสัยทัศน์ ภารกิจ และเป้าหมายที่สถานศึกษาได้กำหนดไว้ สถานศึกษาจะต้องจัดทำโครงสร้างหลักสูตร ซึ่งกำหนดสาระการเรียนรู้และเวลาเรียนไว้อย่างชัดเจน เพื่อสถานศึกษาจะนำไปใช้ในการจัดการเรียนรู้


สาระการเรียนรู้ จะประกอบด้วยองค์ความรู้ ทักษะ หรือกระบวนการเรียนรู้ และคุณลักษณะหรือค่านิยม คุณธรรม จริยธรรมของผู้เรียนเป็น 8 กลุ่มสาระ ได้แก่ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา สุขศึกษาและพลศึกษา ศิลปะ การงานอาชีพและเทคโนโลยี และภาษาต่างประเทศ


กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เป็นกิจกรรมที่จัดให้ผู้เรียนได้พัฒนาความสามารถของตนเองตามศักยภาพ มุ่งเน้นเพิ่มเติมจากกิจกรรมที่ได้จัดให้เรียนรู้ตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ทั้ง 8 กลุ่ม ซึ่งสถานศึกษาจะต้องดำเนินการอย่างมีเป้าหมาย มีรูปแบบ และวิธีการที่เหมาะสม แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ
  1. กิจกรรมแนะแนว
  2. กิจกรรมนักเรียน เช่น ลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด และผู้บำเพ็ญประโยชน์ เป็นต้น


เวลาเรียน ให้สถานศึกษาจัดเวลาเรียนให้ยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสมในแต่ละชั้นปี ทั้งการจัดเวลาการเรียนในสาระการเรียนรู้ 8 กลุ่ม และรายวิชาที่สถานศึกษาจัดทำเพิ่มเติม รวมทั้งต้องจัดให้มีเวลาสำหรับกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนตามความเหมาะสม ดังนี้
ช่วงชั้นที่ 1 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 3 ให้จัดเวลาเรียนวันละประมาณ 4 – 5 ชั่วโมง เพื่อฝึกทักษะจำเป็นขั้นพื้นฐาน ทักษะเหล่านี้ ได้แก่ ภาษาไทยด้านการอ่านและการเขียน และทักษะคณิตศาสตร์ ควรใช้เวลาประมาณร้อยละ 50 ของเวลาเรียนทั้งหมดในแต่ละสัปดาห์
ช่วงชั้นที่ 2 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 – 6 ให้จัดเวลาเรียนวันละประมาณ 4 – 5 ชั่วโมง การจัดเวลาเรียนในกลุ่มภาษาไทยและคณิตศาสตร์ อาจให้เวลาลดเหลือประมาณร้อยละ 40 ของเวลาเรียนในแต่ละสัปดาห์ โดยให้เวลากับกลุ่มวิทยาศาสตร์มากขึ้น
ช่วงชั้นที่ 3 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 3 ให้จัดเวลาเรียนวันละประมาณ 5 – 6 ชั่วโมง ให้ทุกรายวิชามีสัดส่วนใกล้เคียงกัน และจัดรายวิชาอาชีพหรือโครงงานอาชีพ สำหรับผู้เรียนที่มีความสามารถที่จะออกไปสู่โลกอาชีพ
ช่วงชั้นที่ 4 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 – 6 ให้จัดเวลาเรียนเป็นรายภาคโดยให้คิดน้ำหนักของรายวิชาที่เรียนเป็นหน่วยกิต ใช้เกณฑ์ 40 ชั่วโมงต่อภาคเรียน มีค่าน้ำหนักวิชา 1 หน่วยกิต และมีเวลาเรียนวันละไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง ในช่วงนี้จะเริ่มเข้าสู่การเรียนเฉพาะสาขา จึงให้มีการเลือกเรียนในบางรายวิชา และจัดทำรายวิชาเพิ่มเติม



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น