วันพุธที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

1. หลักสูตรคืออะไร


ความหมาย ความสำคัญ องค์ประกอบหลักสูตร ประเภทของหลักสูตรและพัฒนาการของหลักสูตร

ความหมายของหลักสูตร

            คำว่า “หลักสูตร” มาจากคำในภาษาอังกฤษว่า curriculum ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษาละตินว่า “currere” หมายถึง “running course” หรือเส้นทางที่ใช้วิ่งแข่ง ต่อมาได้นำคำนี้มาใช้ในทางการศึกษาว่า “running sequence or learning experience” (Armstrong. 1986:2) การที่เปรียบเทียบหลักสูตรกับสนาม หรือเส้นทางที่ใช้วิ่งแข่งอาจเนื่องมาจากการที่ผู้เรียนจะสำเร็จการศึกษาในระดับใดหรือหลักสูตรใดก็ตาม ผู้เรียนจะต้องฝ่าฟันความยากของวิชาหรือประสบการณ์การเรียนรู้ตามขั้นที่กำหนดไว้ในหลักสูตร เช่นเดียวกับนักวิ่งที่ต้องวิ่งแข่งและฟันฝ่าอุปสรรคไปสู่ชัยชนะและความสำเร็จให้ได้

            ในสมัยก่อนประเทศไทยใช้คำว่า “หลักสูตร” กับคำภาษาอังกฤษว่า “syllabus” แต่เนื่องจากทั้งสองคำมีความหมายที่แตกต่างกันชัดเจน ดังปรากฏใน English Language Dictionary ว่า

            “Curriculum” หมายถึง (1) รายวิชาต่างๆ ทั้งหมดที่จัดสอนในโรงเรียน วิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัย (all the different courses of study that are taught in a school, college, or university) และ (2) รายวิชาหนึ่งๆ ที่จัดสอนในโรงเรียน วิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัย (one particular course of study is taught in a school, college, or university)

            Syllabus” หมายถึง หัวข้อเรื่องที่ศึกษาในรายวิชาหนึ่งๆ (the subjects to be studied in a particular course)

            จากข้อความข้างต้นจะเห็นได้ว่า คำว่า “Curriculum” ซึ่งใช้ในปัจจุบันจะเหมาะกว่าคำว่า “Syllabus” ส่วนคำว่า “Syllabus” จะใช้เมื่อหมายถึงประมวลการสอนในแต่ละวิชา ซึ่งประกอบด้วยรายละเอียดเกี่ยวกับจุดมุ่งหมาย เนื้อหาสาระ กิจกรรม การเรียนการสอน เนื้อหาสาระ การวัดและประเมินผล

            “หลักสูตร” เป็นคำศัพท์ทางการศึกษาคำหนึ่งที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคย และมีผู้ให้ความหมายไว้มากมายและแตกต่างกันไป บางความหมายมีขอบเขตกว้าง บางความหมายมีขอบเขตแคบ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความคิดเห็นและประสบการณ์ที่แตกต่างกันของบุคคลนั้นๆ ที่มีต่อหลักสูตร เช่น

            กู๊ด (Good, 1973: 157) ได้ให้ความหมายของ หลักสูตร ว่าคือ กลุ่มรายวิชาที่จัดไว้อย่างมีระบบหรือลำดับวิชาที่บังคับสำหรับจบการศึกษาหรือเพื่อรับประกาศนียบัตรในสาขาวิชาหลักต่างๆ เช่น หลักสูตรสังคมศึกษา หลักสูตรพลศึกษา

            บ๊อบบิท (Bobbitt, 1918:42) ได้ให้ความหมายหลักสูตร คือ รายการของสิ่งต่างๆ ที่เด็กและเยาวชนต้องทำและมีประสบการณ์ ด้วยวิธีการพัฒนาความสามารถในการทำสิ่งต่างๆ ดังกล่าวให้ดี เพื่อให้ดำรงชีวิตในวัยผู้ใหญ่ได้

            โอลิวา (Oliva, 1982: 10) กล่าวว่า หลักสูตร คือ แผนหรือโปรแกรมสำหรับประสบการณ์ทั้งหลายที่ผู้เรียนจะต้องประสบภายใต้การอำนวยการของโรงเรียน

            เซเลอร์และอเล็กซานเดอร์ (Saylor & Alexander, 1974: 6) ได้กล่าวถึงความหมายของหลักสูตรว่า “เป็นแผนสำหรับจัดโอกาสทางการเรียนรู้ให้แก่บุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพื่อบรรลุเป้าหมายหรือจุดหมายที่วางไว้โดยมีโรงเรียนเป็นผู้รับผิดชอบ” ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของทาบา (Taba, 1962: 10) ที่กล่าวไว้ว่า “หลักสูตร คือ แผนการเรียนรู้ที่ประกอบด้วยจุดประสงค์และจุดหมายเฉพาะการเลือกและการจัดเนื้อหา วิธีการจัดการเรียนการสอน และการประเมินผล”

            ทรัมพ์และมิลเลอร์ (Trump and Miller, 1973: 11 – 12) กล่าวว่า หลักสูตร คือ กิจกรรมการเรียนการสอนชนิดต่างๆ ที่เตรียมการไว้และจัดให้แก่เด็กนักเรียนหรือระบบโรงเรียน

            คูแบน (Cuban, 1992) ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับความหมายของหลักสูตรว่า ขึ้นอยู่กับมุมมองของชนิดหลักสูตรที่อ้างถึงซึ่งมี 3 ชนิด คือ หลักสูตรที่พึงปรารถนา หลักสูตรที่ได้สอน และหลักสูตรที่ได้เรียน โดยมีรายละเอียดพอสังเขป ดังนี้

            หลักสูตรที่พึงปรารถนา (intend curriculum) คือ หลักสูตรที่เขียนขึ้นอย่างเป็นทางการ ตามนโยบายของสถานศึกษาต่างๆ ที่คาดหวังให้เกิดขึ้นกับตัวผู้เรียน ซึ่งอยู่ในรูปของเอกสารที่สะท้อนถึงทฤษฎีทางด้านการศึกษา หรือคุณค่าของสังคมในขณะนั้น อย่างไรก็ตามหลักสูตรดังกล่าวอาจไม่จำเป็นที่จะต้องทำตามนโยบายจากส่วนกลางเสมอไป มาตรฐานของหลักสูตรอาจจะกำหนดขึ้น โดยใช้เกณฑ์จากผู้เชี่ยวชาญหรือครูผู้สอนในโรงเรียน เช่น ครูในโรงเรียนสามารถตัดสินใจที่จะกำหนดหลักสูตรเกี่ยวกับการสอนทักษะทางด้านภาษาที่จะสอนในแต่ละระดับชั้น หรือกลุ่มโรงเรียนอาจจะกำหนดหลักสูตรตามที่กลุ่มของคาดหวัง

            หลักสูตรที่ได้สอน (taught curriculum) คือ หลักสูตรที่นำเอาแนวคิดของหลักสูตรที่พึงปรารถนามาปรับขยาย จากทฤษฎีสู่แนวทางการปฏิบัติ ซึ่งค่อนข้างมีความเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชั้นเรียน หรือกิจกรรมการเรียนการสอน หลักสูตรดังกล่าวยังมีความหมายมากกว่าบทเรียน หรือกิจกรรมในชั้นเรียน เช่น การถาม การอภิปราย การจัดเวลาในการสอน การจัดกลุ่ม ระเบียบในชั้นเรียน อุปกรณ์การเรียน ตำราเรียน สมุดงาน หรือเครื่องมือต่างๆ ที่นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติ หลายคนอาจเข้าใจผิดว่าตำราเรียนเปรียบเสมือนหลักสูตรที่ได้สอน แต่ตำราเรียนยังไม่ใช่ตัวแทนของหลักสูตรดังกล่าวทั้งหมด กิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการจัดสรรตามหัวข้อเนื้อหาต่างๆ คือหลักสูตรที่ได้สอน หลักสูตรที่ได้เรียน (learned curriculum) คือ หลักสูตรที่นักเรียนได้เรียนตามความเป็นจริงในชั้นเรียน เป็นปฏิกิริยาจากหลักสูตรที่พึงปรารถนาและหลักสูตรที่ได้สอน หลักสูตรดังกล่าว หมายถึงทักษะหรือความรู้ที่เด็กได้รับจากการเรียน ซึ่งอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรที่ปรารถนา และหลักสูตรที่ได้สอนหรือไม่ก็ได้



นักการศึกษาของไทยหลายท่านได้แสดงความคิดเห็นและความหมายของคำว่าหลักสูตรไว้หลายประการ เช่น

            สุมิตร คุณานุกร (2520: 2-3) ได้ให้ความหมายของหลักสูตรไว้ในสองระดับ คือ หลักสูตรในระดับชาติกับหลักสูตรในระดับโรงเรียน หลักสูตรในระดับชาติ หมายถึง “โครงการให้การศึกษาเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ ความสามารถ และคุณลักษณะ สอดคล้องกับความมุ่งหมายทางการศึกษาที่กำหนดไว้” ส่วนหลักสูตรในระดับโรงเรียน หมายถึง “โครงการที่ประมวลความรู้และประสบการณ์ทั้งหลายที่โรงเรียนจัดให้กับนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นภายในหรือภายนอกโรงเรียนก็ตาม เพื่อให้ผู้เรียนพัฒนาไปตามความมุ่งหมายที่กำหนดไว้”

            สงัด อุทรานันท์ (2532, .16) ให้ความหมายของหลักสูตรว่า มีลักษณะดังต่อไปนี้

                        หลักสูตร คือ สิ่งที่สร้างขึ้นใหม่ในลักษณะรายวิชา ซึ่งประกอบด้วยเนื้อหาสาระที่จัดลำดับความยากง่าย หรือมีขั้นตอนอย่างดีแล้ว

                        หลักสูตรประกอบขึ้นด้วยประสบการณ์ในการเรียนที่วางแผนไว้ล่างหน้า โดยมีเป้าหมายให้เด็กเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ต้องการ หลักสูตรเป็นสิ่งที่สังคมสร้างขึ้นสำหรับให้ประสบการณ์การศึกษาแก่เด็กในโรงเรียน หลักสูตรประกอบด้วยมวลประสบการณ์ทั้งหมดของผู้เรียน ซึ่งทำให้ผู้เรียนได้รับรู้ และตอบสนองต่อการแนะแนวของโรงเรียน

            ธำรง บัวศรี (2532: 6) ให้ความหมายว่า หลักสูตร คือ แผนซึ่งได้ออกแบบจัดทำขึ้นเพื่อแสดงจุดหมาย การจัดเนื้อหาสาระ กิจกรรม และมวลประสบการณ์ในแต่ละโปรแกรมการศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนมีพัฒนาการในด้านต่างๆ ตามจุดหมายที่ได้กำหนดไว้
            กมล สุดประเสริฐ (2516: 10) ได้ให้ความหมายหลักสูตรว่า หลักสูตรมิได้หมายถึงเพียงแต่หนังสือหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น แต่ยังมีความหมายถึงกิจกรรมและประสบการณ์ทั้งหลายที่จัดให้กับเด็ก ซึ่งรวมถึงการสอนของครูต่อนักเรียนด้วย
ความสำคัญของหลักสูตร
            หลักสูตรเปรียบเสมือนหัวใจสำคัญของการจัดการศึกษา การจัดการศึกษาระดับใดหรือประเภทใดจะขาดหลักสูตรไม่ได้ เพราะหลักสูตรจะเป็นตัวกำหนดแนวทางทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาผู้เรียน ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดอนาคตทางการศึกษาของสังคมนั้นๆ หรืออาจกล่าวอีกนัยว่า หลักสูตรเป็นเครื่องชี้นำทางในการจัดความรู้และประสบการณ์ให้กับผู้เรียน ซึ่งครูจะต้องปฏิบัติตามเพื่อให้ผู้เรียนได้รับการจัดการศึกษาที่มีจุดมุ่งหมาย หรือมีมาตรฐานเดียวกัน หลักสูตรจึงเป็นเครื่องชี้นำทางถึงความเจริญของประเทศ ประเทศใดที่มีหลักสูตรที่เหมาะสม ทันสมัย และมีประสิทธิภาพ ย่อมนำไปสู่คุณภาพของคนในประเทศนั้น จากความสำคัญดังข้างต้น สามารถสรุปความสำคัญของหลักสูตรเป็นข้อๆ ดังนี้
  1. หลักสูตรเปรียบเสมือนแม่พิมพ์ของประชาชนในประเทศ ซึ่งคนที่จบการศึกษาในแต่ละระดับในประเทศ หลักสูตรจะเป็นตัวกำหนดคุณลักษณะของคนที่จบการศึกษาในระดับนั้นๆ
  2. หลักสูตรเป็นมาตรฐานของการศึกษา ถ้าประเทศหรือการศึกษาระดับใดมีหลักสูตรที่มีประสิทธิภาพ จะสะท้อนถึงการจัดการศึกษาที่มีประสิทธิภาพตามมา
  3. หลักสูตรเป็นแนวทางในการให้การศึกษา ซึ่งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลติดตามผลของการศึกษาได้ทั้งผู้บริการ ครู ผู้ปกครอง ตลอดทั้งผู้เกี่ยวข้องกับการศึกษาทุกคน
  4. หลักสูตรเป็นแนวปฏิบัติในการจัดการเรียนการสอนของครู เนื่องจากตัวหลักสูตรจะเป็นตัวกำหนดคุณลักษณะของผู้เรียนในระดับมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งครูสามารถออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้อย่างหลากหลาย ให้สะท้อนและบรรลุเป้าหมายของหลักสูตรที่ตั้งไว้
  5. หลักสูตรเป็นเครื่องกำหนดแนวทางความรู้ ตลอดทั้งการจัดประสบการณ์ของครูผู้สอน ซึ่งการศึกษาในแต่ละระดับจะมีองค์ความรู้และประสบการณ์ที่แตกต่างกันไป
  6. หลักสูตรเป็นเครื่องทำนายอนาคตของการศึกษาของชาติ อนาคตของการศึกษาของชาติย่อมมาจากหลักสูตรที่มีวิสัยทัศน์ ที่มีการวางกรอบเนื้อหาที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคม
องค์ประกอบของหลักสูตร (Curriculum Component)
            จากคำนิยามหรือคำจำกัดความของหลักสูตร นอกจากชี้ให้เห็นว่าหลักสูตรมีสาระสำคัญและมีความหมายอย่างไรแล้ว ยังชี้ให้เห็นถึงองค์ประกอบสำคัญที่มีอยู่ในตัวหลักสูตรด้วย นักการศึกษาหลายท่าน ได้กล่าวถึงองค์ประกอบของหลักสูตรไว้ดังนี้
            สุมิตร คุณานุกร (2520: 9) กล่าวว่า เมื่อพิจารณาหลักสูตรในแง่ขององค์ประกอบแล้วจะมี 4 องค์ประกอบ คือ
  1. ความมุ่งหมาย (Objective)
  2. เนื้อหา (Content)
  3. การนำหลักสูตรไปใช้ (Curriculum Implementation)
  4. การประเมินผล (Evaluation)
ธำรง บัวศรี (2532: 8) กล่าวว่า สำหรับหลักสูตรนั้นมีองค์ประกอบที่สำคัญและขาดไม่ได้อย่างน้อย 6 อย่าง คือ
  1. จุดมุ่งหมายของหลักสูตร (Curriculum Aims)
  2. จุดประสงค์ของการเรียนการสอน (Instructional Objectives)
  3. เนื้อหาสาระและประสบการณ์ (Content and Experiences)
  4. ยุทธศาสตร์การเรียนการสอน (Instructional Strategies)
  5. วัสดุอุปกรณ์และสื่อการเรียนการสอน (Instructional Media and Materials)
  6. การประเมิลผล (Evaluation)
ทาบา (Taba, 1962: 10) กล่าวว่า หลักสูตรควรมีองค์ประกอบอยู่ 4 อย่าง คือ
  1. วัตถุประสงค์ทั่วไปและวัตถุประสงค์เฉพาะวิชา
  2. เนื้อหาวิชาและจำนวนชั่วโมงสอนแต่ละวิชา
  3. กระบวนการสอนและการเรียนหรือการนำหลักสูตรไปใช้
  4. โครงการประเมินผลการสอนตามหลักสูตร
การจำแนกองค์ประกอบของหลักสูตรดังกล่าวจะเห็นได้ว่า อาจจะแตกต่างกันบ้างในรายละเอียด แต่ในหลักใหญ่มีประเด็นหรือองค์ประกอบที่สำคัญเหมือนกันอย่างครบถ้วน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้หลักสูตรสามารถนำหลักสูตรไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ องค์ประกอบที่สำคัญ คือ
  1. จุดมุ่งหมายของหลักสูตร (Curriculum) หมายถึง ความตั้งใจหรือความคาดหวังที่ต้องการให้เกิดขึ้นในตัวผู้ที่จะผ่านหลักสูตร จุดมุ่งหมายของหลักสูตรมีความสำคัญเพราะเป็นตัวกำหนดทิศทางและขอบเขตในการให้การศึกษาแก่เด็ก ช่วยในการเลือกเนื้อหาและกิจกรรม ตลอดจนใช้เป็นมาตรการอย่างหนึ่งในการประเมิน
  2. เนื้อหา (Content) เมื่อกำหนดจุดมุ่งหมายแล้ว กิจกรรมขั้นต่อคือ การเลือกเนื้อหา ประสบการณ์การเรียนรู้ต่างๆ ที่คาดว่าจะช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาไปสู่จุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้ โดยดำเนินการตั้งแต่การเลือกเนื้อหาสาระและประสบการณ์ การเรียงลำดับเนื้อหาสาระ พร้อมทั้งการกำหนดเวลาเรียนที่เหมาะสม
  3. การนำหลักสูตรไปใช้ (Curriculum Implementation) เป็นการนำหลักสูตรไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ เช่นการจัดทำวัสดุหลักสูตร ได้แก่ คู่มือครู เอกสารหลักสูตร แผนการสอน แนวการสอน และแบบเรียน เป็นต้น
  4. การประเมินผลหลักสูตร (Evaluation) คือ การหาคำตอบว่าหลักสูตรสัมฤทธิผลตามที่คาดไว้ในจุดมุ่งหมายหรือไม่ มากน้อยเพียงใด และอะไรเป็นสาเหตุ การประเมินผลหลักสูตรเป็นงานใหญ่และมีขอบเขตกว้าง ผู้ประเมินจำเป็นต้องวางโครงการประเมินไว้ล่วงหน้า
ประเภทของหลักสูตร
            รูปแบบของหลักสูตรแต่ละรูปแบบได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิดด้านปรัชญาการศึกษา จิตวิทยาการศึกษา หรือความต้องการของสังคม ทำให้มีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป โดยนักการศึกษาได้พยายามจำแนกประเภท รูปแบบตามแนวคิดของแต่ละคน สรุปรูปแบบหลักสูตรที่สำคัญ ดังนี้
  1. หลักสูตรรายวิชา (Subject curriculum)
  2. หลักสูตรสหสัมพันธ์ (Correlated curriculum)
  3. หลักสูตรผสมผสาน (Fused curriculum)
  4. หลักสูตรหมวดวิชาแบบกว้าง (Broad fields curriculum)
  5. หลักสูตรวิชาแกน (Core curriculum)
  6. หลักสูตรที่เน้นกิจกรรมและปัญหาทางสังคม (Social activities and problem curriculum)
  7. หลักสูตรที่เน้นความต้องการและความสนใจของแต่ละบุคคล (Individual and interest curriculum)
  8. หลักสูตรเพื่อชีวิตและสังคม (Social process and life function curriculum)
  9. หลักสูตรบูรณาการ (Integrated curriculum)
  10. หลักสูตรอิงมาตรฐาน (Standard-based curriculum)




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น