วันอาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

15. การประเมินผลหลักสูตร (ต่อ)



แบบจำลองการประเมินแบบ CIPP     


               แนวคิดการประเมินของสตัฟเฟิลบีม ในปี ค.ศ.1971 สตัฟเฟิลบีม (Daniel L. Stufflebeam, 1971) ได้เขียนหนังสือทางการประเมินออกมาหนึ่งเล่ม ชื่อ “Educational Evaluation and Decision Making) หนังสือเล่มนี้ ได้เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง เพราะให้แนวคิดและวิธีการทางการวัดผล และประเมินผล ได้อย่างน่าสนใจ และทันสมัยด้วย นอกจากนั้นสตัฟเฟิลบีมก็ได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการประเมิน และรูปแบบของการประเมินอีกหลายเล่มอย่างต่อเนื่อง จึงกล่าวได้ว่า ท่านผู้นี้เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทฤษฎีการประเมิน จนเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในปัจจุบันเรียกว่า CIPP  Model  โดยให้คำนิยามการประเมินว่า หมายถึง กระบวนการรวมรวบ และวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้ได้ข้อมูลสารสนเทศที่มีประโยชน์ในการนำไปใช้เป็นทางเลือกประกอบการตัดสินใจ มีจุดมุ่งหมายเพื่อเตรียมข้อมูลที่เกี่ยวข้องไว้ใช้ในการตัดสินใจ ผู้ทำการประเมินจะรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล และเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้บริหาร (เชาว์  อินใย, 2553, หน้า 125)


               สุวิมล  ติรกานันท์ (2547, หน้า 47 – 48) ได้กล่าวว่าสตัฟเฟิลบีมได้พัฒนาแบบจำลองขึ้นในปี ค.ศ. 1971 โดยมีแนวคิดในการสร้างสารสนเทศเพื่อการตัดสินใจ แบ่งการประเมินเป็น 4 ประเด็นตามประเภทของการตัดสินใจ


1.       สภาพแวดล้อมเพื่อการวางแผนใช้กำหนดนโยบาย หรือเป้าหมาย เพื่อการคัดเลือกโครงการที่เหมาะสม


2.       ปัจจัยนำเข้าเพื่อกำหนดโครงสร้างของการดำเนินงาน ยุทธวิธี วิธีการ แผนในการดำเนินงาน


3.       กระบวนการเพื่อกำกับและติดตามการดำเนินงานตามแผน เพื่อปรับปรุงวิธีในการดำเนินงาน รายงานความก้าวหน้าของโครงการ


4.       ผลผลิต เพื่อตัดสินใจยุติ ชะลอ หรือขยายโครงการ


               สมคิด  พรมจุ้ย (2550, หน้า 57 – 58) ได้กล่าวว่า การประเมินโดยใช้ซิปโมเดล (CIPP Model) เป็นการประเมินที่เป็นกระบวนการต่อเนื่อง โดยมีจุดเน้นที่สำคัญ คือ ใช้ควบคู่กับการบริหารโครงการเพื่อหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ซึ่งแนวทางการประเมินในด้านต่าง ๆ มีรายละเอียด ดังนี้


  1. การประเมินบริบท หรือสภาวะแวดล้อม (Context Evaluation: C) เป็นการประเมินเพื่อให้ได้ข้อมูลสำคัญ เพื่อช่วยในการกำหนดวัตถุประสงค์ของโครงการ ความเป็นไปได้ของโครงการ
  2. การประเมินปัจจัยเบื้องต้น (Input Evaluation: I) เป็นการประเมิน เพื่อใช้ข้อมูลตัดสินใจปัจจัยต่าง ๆ   ที่เกี่ยวข้องกับโครงการว่าเหมาะสมหรือไม่ โดยดูว่าปัจจัยที่ใช้จะมีส่วนช่วยให้บรรลุจุดมุ่งหมายของโครงการหรือไม่
  3. การประเมินกระบวนการ (Process Evaluation: P) เป็นการประเมินระหว่างการดำเนินโครงการ เพื่อหาข้อดี และข้อบกพร่องของการดำเนินงานตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ และเป็นการรายงานผลการปฏิบัติงานของโครงการนั้นด้วย
  4. การประเมินผลผลิต (Product Evaluation : P) เป็นการประเมินเพื่อดูว่าผลที่เกิดขึ้นเมื่อสิ้นสุดโครงการเป็นไปตามวัตถุประสงค์ หรือตามที่คาดหวังไว้หรือไม่ โดยอาศัยข้อมูลจากการ


               เยาวดี รางชัยกุล วิบูลย์ศรี (2551, หน้า 56 - 59) ได้กล่าวว่า แนวคิดการประเมินของสตัฟเฟิลบีมว่า การประเมินเป็นกิจกรรมที่มีลักษณะเป็นกระบวนการคือ มีความต่อเนื่องกันในการดำเนินงานอย่างคบวงจร จะต้องมีการระบุหรือบ่งชี้ข้อมูลที่ต้องการ และมีการเก็บรวบรวมข้อมูลตามที่ได้ระบุหรือบ่งชี้ไว้ แล้วนำเอาข้อมูลที่เก็บรวบรวมมาได้นั้น จัดทำให้เป็นสารสนเทศ โดยสารสนเทศที่ได้มานั้น จะต้องมีความหมายและประโยชน์ เพื่อนำไปเสนอใช้ประกอบการตัดสินใจในการกำหนดทางเลือกใหม่ หรือแนวทางดำเนินการต่อไป


               แนวคิดของสตัฟเฟิลบีม มีลักษณะที่จะแบ่งแยกบทบาทของการทำงานระหว่างฝ่ายประเมินกับฝ่ายบริหารออกจากกันอย่างเด่นชัด กล่าวคือ ฝ่ายประเมินทำหน้าที่ระบุ จัดหา และนำเสนอสารสนเทศให้กับฝ่ายบริหาร ส่วนฝ่ายบริหารมีหน้าที่เรียกหา และนำผลการประเมินที่ได้นั้นไปใช้ประกอบการตัดสินใจเพื่อดำเนินการต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น