วันอาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

16. ปัญหาและแนวโน้มในการพัฒนาหลักสูตร



ปัญหาและแนวโน้มในการพัฒนาหลักสูตร


ปัญหาการพัฒนาหลักสูตรไทย
1. ปัญหาการขาดครูที่มีคุณสมบัติเหมาะสม
2. ปัญหาการไม่ยอมรับและไม่เปลี่ยนแปลงบทบาทการสอนของครู
3. ปัญหาการจัดอบรมครู
4. ศูนย์การพัฒนาหลักสูตร ไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่ของตน
5. ขาดการประสานงานที่ดีระหว่างหน่วยงานต่างๆ
6. ผู้บริหารต่างๆ ไม่สนใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงหลักสูตร
7. ปัญหาการขาดแคลนเอกสาร


ปัญหาหลักสูตรในการศึกษาปฐมวัย
การเรียนการสอนจะเน้นสอนเนื้อหาวิชาตามหลักสูตรมากกว่าการพัฒนาการเด็ก ทำให้เด็กเกิดความเครียด
-  การไม่ได้ใช้ประโยชน์จากหลักสูตรอย่างเต็มที่
-  แนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้หลักสูตรยังขาดความเป็นเอกภาพ


ปัญหาหลักสูตรในการศึกษาขั้นพื้นฐาน
-  การจัดโครงสร้างหลักสูตรใหม่ทำให้ครูต้องสอนเนื้อหาหนักมากขึ้น และผู้เรียนต้องเรียนหนักมากขึ้น
-  สถานศึกษาจัดทำเองไม่มีความชัดเจกรมวิชาการและกรมเจ้าสังกัดมีจุดเน้นที่ไม่ตรงกัน
-  มีเสียงสะท้อนว่านโยบายการจัดทำหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544 ที่ให้โรงเรียนจัดทำเองไม่มีความชัดเจน
-  ทำให้ครูเกิดความสับสน


ปัญหาหลักสูตรการอาชีวศึกษา
ผู้เข้าเรียนในการอาชีวศึกษาไม่มีคุณภาพเท่าที่ควรหลักสูตรก่อนถึงระดับ  ปวช.  คือระดับมัธยมต้น หรือการศึกษาผู้ใหญ่เป็นการปูพื้นฐานความรู้ระดับต่ำ เช่น  อ่าน  สะกดคำไม่ได้  ขาดความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ  เมื่อมาเรียนต่อในระดับอาชีวศึกษาจึงเกิดปัญหา แม้ครูจะเตรียมการสอนดีอย่างไร ผู้เรียนไม่สามารถต่อยอดความรู้ได้ เพราะพื้นฐานความรู้ไม่ดีเพียงพอ


การจัดหลักสูตรสำหรับผู้ด้อยโอกาส ยังไม่เหมาะสม  เพราะหลักสูตรยังยึดวิธีการแบบเก่าๆไม่สนองความต้องการและความสนใจและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้ด้อยโอกาสในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย 


สภาพและปัญหาของหลักสูตร
1. การกระจายโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา
2. คุณภาพการศึกษา
3. หลักสูตรและการเรียนการสอน
4. การบริหารและการจัดการศึกษา
5. งบประมาณและการลงทุนทางการศึกษา 
6. คุณภาพของผู้สำเร็จการศึกษา 
7. แนวโน้มผู้เข้าเรียน


แนวโน้มการพัฒนาหลักสูตรประถมศึกษา
-  การศึกษาสำหรับเด็กเล็ก และก่อนประถมศึกษาจะขยายตัวมากกว่าระดับอื่น
-  การเพิ่มคุณภาพของครูประถม
-  การเพิ่มงบประมาณ การปรับปรุงคุณภาพ และหลักสูตรโดยเน้นการประกอบอาชีพ
-  การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น
-  การยุบโรงเรียนรวมเข้าด้วยกันแทนการสร้างโรงเรียนแห่งใหม่


แนวโน้มการพัฒนาหลักสูตรมัธยมศึกษา
-  เป็นบุคคลที่มีความสามารถในการใช้ภาษา เพื่อการสื่อสาร
-  มีความสามารถใช้เทคโนโลยีมาช่วยส่งเสริมทักษะการทำงานและการดำเนินชีวิต
-  มีความสามารถปรับตัวอยู่ร่วมกับคนอื่นได้
-  มีแนวทางที่จะเลือกดำเนินชีวิต
-  มีความสามารถพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของตนเองให้เจริญถึงขีดสุด
-  มีความสามารถที่จะนำตนเองได้ การควบคุมตนเองได้
-   มีโลกทัศน์ที่กว้างและมีน้ำใจแบบนานาชาติรวมทั้งมีค่านิยมและความสำนึกในความเป็นชาติไทยของตน
-   มีค่านิยมคุณธรรมและจริยธรรม
-   มีสุนทรียภาพในการดำเนินชีวิต


สภาพปัญหาการพัฒนาหลักสูตรของอุดมศึกษา
-  ขาดแคลนอาจารย์ประจำที่มีคุณวุฒิและประสบการณ์โดยเฉพาะสาขาวิชาที่มีความต้องการมากทางด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และเกษตรกรรม
-  อุดมศึกษามุ่งความเป็นเลิศทางวิชาการ ละเลยคุณธรรม จริยธรรม การบริการวิชาการแก่สังคม
-  มหาวิทยาลัยมักเลียนแบบต่างประเทศโดยไม่เข้าใจ หลักการและเป้าหมายที่แท้จริงของหลักการที่เลียนแบบ
-  การเรียนการสอนยังเน้นทฤษฎีมากกว่าปฏิบัติเน้นความรู้มากกว่าการนำไปใช้
-   การตื่นตัวทางการวิจัยมุ่งการกำหนดให้เลื่อนตำแหน่งทางวิชาการซึ่งเน้นการวิจัยมากเกินไปจนทำให้ลดความสำคัญด้านการสอน 
-   กลุ่มผู้บริหารอุดมศึกษามีลักษณะอนุรักษ์นิยมสูง
-   งบประมาณในการพัฒนาการศึกษาระดับนี้ก็ยังมีไม่เพียงพอ


แนวโน้มสำคัญของการศึกษาไทยใน 5 ปีข้างหน้า
-  มุ่งพัฒนาหลักสูตรใหม่ ๆ อาทิ หลักสูตรที่บูรณาการระหว่างสองศาสตร์ขึ้นไป เช่น ระดับอาชีวศึกษา หลักสูตรเดียวจะมีหลายสาขาวิชาเรียนช่างยนต์ จะผนวกการตลาดและการบัญชีเข้าไปด้วย เป็นต้น หลักสูตรที่ให้ปริญญาบัตร 2 ใบ และมีการพัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัยตลอดเวลา
-   หลักสูตรนานาชาติมีแนวโน้มมากขึ้น เนื่องจากสภาพยุคโลกาภิวัตน์ที่มีการเชื่อมโยงด้านการค้าและการลงทุน
-  การจัดการศึกษามีความเป็นสากลมากขึ้นสภาพโลกาภิวัฒน์ที่มีการเชื่อมโยงในทุกด้านร่วมกันทั่วโลก
-   ความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสทางการศึกษาลดลง
-   โอกาสรับบริการทางการศึกษาที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น

15. การประเมินผลหลักสูตร (ต่อ)



แบบจำลองการประเมินแบบ CIPP     


               แนวคิดการประเมินของสตัฟเฟิลบีม ในปี ค.ศ.1971 สตัฟเฟิลบีม (Daniel L. Stufflebeam, 1971) ได้เขียนหนังสือทางการประเมินออกมาหนึ่งเล่ม ชื่อ “Educational Evaluation and Decision Making) หนังสือเล่มนี้ ได้เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง เพราะให้แนวคิดและวิธีการทางการวัดผล และประเมินผล ได้อย่างน่าสนใจ และทันสมัยด้วย นอกจากนั้นสตัฟเฟิลบีมก็ได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการประเมิน และรูปแบบของการประเมินอีกหลายเล่มอย่างต่อเนื่อง จึงกล่าวได้ว่า ท่านผู้นี้เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทฤษฎีการประเมิน จนเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในปัจจุบันเรียกว่า CIPP  Model  โดยให้คำนิยามการประเมินว่า หมายถึง กระบวนการรวมรวบ และวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้ได้ข้อมูลสารสนเทศที่มีประโยชน์ในการนำไปใช้เป็นทางเลือกประกอบการตัดสินใจ มีจุดมุ่งหมายเพื่อเตรียมข้อมูลที่เกี่ยวข้องไว้ใช้ในการตัดสินใจ ผู้ทำการประเมินจะรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล และเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้บริหาร (เชาว์  อินใย, 2553, หน้า 125)


               สุวิมล  ติรกานันท์ (2547, หน้า 47 – 48) ได้กล่าวว่าสตัฟเฟิลบีมได้พัฒนาแบบจำลองขึ้นในปี ค.ศ. 1971 โดยมีแนวคิดในการสร้างสารสนเทศเพื่อการตัดสินใจ แบ่งการประเมินเป็น 4 ประเด็นตามประเภทของการตัดสินใจ


1.       สภาพแวดล้อมเพื่อการวางแผนใช้กำหนดนโยบาย หรือเป้าหมาย เพื่อการคัดเลือกโครงการที่เหมาะสม


2.       ปัจจัยนำเข้าเพื่อกำหนดโครงสร้างของการดำเนินงาน ยุทธวิธี วิธีการ แผนในการดำเนินงาน


3.       กระบวนการเพื่อกำกับและติดตามการดำเนินงานตามแผน เพื่อปรับปรุงวิธีในการดำเนินงาน รายงานความก้าวหน้าของโครงการ


4.       ผลผลิต เพื่อตัดสินใจยุติ ชะลอ หรือขยายโครงการ


               สมคิด  พรมจุ้ย (2550, หน้า 57 – 58) ได้กล่าวว่า การประเมินโดยใช้ซิปโมเดล (CIPP Model) เป็นการประเมินที่เป็นกระบวนการต่อเนื่อง โดยมีจุดเน้นที่สำคัญ คือ ใช้ควบคู่กับการบริหารโครงการเพื่อหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ซึ่งแนวทางการประเมินในด้านต่าง ๆ มีรายละเอียด ดังนี้


  1. การประเมินบริบท หรือสภาวะแวดล้อม (Context Evaluation: C) เป็นการประเมินเพื่อให้ได้ข้อมูลสำคัญ เพื่อช่วยในการกำหนดวัตถุประสงค์ของโครงการ ความเป็นไปได้ของโครงการ
  2. การประเมินปัจจัยเบื้องต้น (Input Evaluation: I) เป็นการประเมิน เพื่อใช้ข้อมูลตัดสินใจปัจจัยต่าง ๆ   ที่เกี่ยวข้องกับโครงการว่าเหมาะสมหรือไม่ โดยดูว่าปัจจัยที่ใช้จะมีส่วนช่วยให้บรรลุจุดมุ่งหมายของโครงการหรือไม่
  3. การประเมินกระบวนการ (Process Evaluation: P) เป็นการประเมินระหว่างการดำเนินโครงการ เพื่อหาข้อดี และข้อบกพร่องของการดำเนินงานตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ และเป็นการรายงานผลการปฏิบัติงานของโครงการนั้นด้วย
  4. การประเมินผลผลิต (Product Evaluation : P) เป็นการประเมินเพื่อดูว่าผลที่เกิดขึ้นเมื่อสิ้นสุดโครงการเป็นไปตามวัตถุประสงค์ หรือตามที่คาดหวังไว้หรือไม่ โดยอาศัยข้อมูลจากการ


               เยาวดี รางชัยกุล วิบูลย์ศรี (2551, หน้า 56 - 59) ได้กล่าวว่า แนวคิดการประเมินของสตัฟเฟิลบีมว่า การประเมินเป็นกิจกรรมที่มีลักษณะเป็นกระบวนการคือ มีความต่อเนื่องกันในการดำเนินงานอย่างคบวงจร จะต้องมีการระบุหรือบ่งชี้ข้อมูลที่ต้องการ และมีการเก็บรวบรวมข้อมูลตามที่ได้ระบุหรือบ่งชี้ไว้ แล้วนำเอาข้อมูลที่เก็บรวบรวมมาได้นั้น จัดทำให้เป็นสารสนเทศ โดยสารสนเทศที่ได้มานั้น จะต้องมีความหมายและประโยชน์ เพื่อนำไปเสนอใช้ประกอบการตัดสินใจในการกำหนดทางเลือกใหม่ หรือแนวทางดำเนินการต่อไป


               แนวคิดของสตัฟเฟิลบีม มีลักษณะที่จะแบ่งแยกบทบาทของการทำงานระหว่างฝ่ายประเมินกับฝ่ายบริหารออกจากกันอย่างเด่นชัด กล่าวคือ ฝ่ายประเมินทำหน้าที่ระบุ จัดหา และนำเสนอสารสนเทศให้กับฝ่ายบริหาร ส่วนฝ่ายบริหารมีหน้าที่เรียกหา และนำผลการประเมินที่ได้นั้นไปใช้ประกอบการตัดสินใจเพื่อดำเนินการต่อไป

14. การประเมินผลหลักสูตร




การประเมินหลักสูตร

            การประเมินหลักสูตรเป็นกระบวนการค้นหาข้อมูล เก็บข้อมูลเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการตัดสินหาทางเลือกที่ดีกว่าเดิม พิจารณาเกี่ยวกับคุณค่าของหลักสูตร โดยใช้ผลจากการวัดในแง่มุมต่างๆ ของสิ่งที่ประเมินเพื่อนำมาพิจารณาร่วมกัน

แนวคิดการประเมินหลักสูตร

            การประเมินหลักสูตรเริ่มต้นในปี ค.ศ. 1444 เมื่อมีการทำสัญญาระหว่างผู้ปกครองเมือง Treviso กับครูใหญ่ของโรงเรียน เพื่อประเมินค่าจ้างของครูใหญ่ตามระดับการได้รับความรู้ของนักเรียน โดยวัดจากแบบวัดที่สร้างขึ้น ในศตวรรษที่ 18 มีการใช้ผลการประเมินผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นของหลักสูตรเป็นตัวกำหนดการให้ผลตอบแทน (รางวัลหรือโทษ) จะรู้จักกันดรในรูปแบบของ “Payment By Results” (PBR) โดยมีข้อตกลงว่า นักเรียนทุกคนเกิดการเรียนรู้ได้ถ้าได้รับการสอนอย่างเหมาะสม การประเมินหลักสูตรในช่วงนี้ใช้แบบทดสอบวัดผลลัพธ์ของหลักสูตร คือ ผลการเรียนรู้ของนักเรียน เป็นการทดสอบที่เรียกว่า “High Stake Test” ซึ่งมีอิทธิผลต่อพฤติกรรมของครูและนักเรียน

            ช่วงหลังศตวรรษที่ 19 ธอร์นไดค์ (Thorndike) ได้นำแนวคิดเชิงวิทยาศาสตร์เข้ามาใช้ในการวัดผลการเรียนรู้ โดยมองว่าผลลัพธ์ที่สำคัญของการศึกษา คือ การเปลี่ยนแปลงของนักเรียนที่ต้องสามารถวัดเป็นปริมาณได้ และจากปริมาณที่วัดได้จะบอกให้ทราบถึงความรู้ที่แต่ละคนได้รับจากหลักสูตร ซึ่งแนวคิดนี้ได้มองข้ามสิ่งที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของการนำหลักสูตรไปใช้ในโรงเรียน เช่น กระบวรการถ่ายทอดความรู้ และระบบต่างๆ ภายในโรงเรียน สนใจเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเด็กเท่านั้น ในช่วงนี้เองแนวคิดพฤติกรรมนิยม ปฏิบัติการนิยม และการทดสอบได้กลายเป็นส่วนประกอบที่จำเป็นของหลักสูตร

            หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการขยายตัวทางการศึกษา การประเมินที่เป็นที่นิยมแพร่หลาย คือ การประเมินตามจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม ของ ราล์ฟ ไทเลอร์ (Ralph Tyler) เป็นผู้ที่ริเริ่มให้คำนิยามของการศึกษาว่า “การศึกษาคือการเปลี่ยนพฤติกรรม” ดังนั้นการประเมินผลหลักสูตรจึงมุ่งไปที่การเปลี่ยนแปลงเป็นจุดสำคัญ ตัวอย่างการประเมินหลักสูตรที่จัดได้ว่าเป็นงานชิ้นสำคัญ คือ การประเมิน “Eight Year Study” ของไทเลอร์ ที่มีการกำหนดจุดประสงค์ของการพัฒนาประสบการณ์เรียนรู้ เป็นจุดประสงค์เชิงพฤติกรรมตามแบบของบลูม (Bloom) และนำไปใช้ในการประเมินว่าหลักสูตรให้ความสำคัญกับจุดประสงค์นั้นเพียงใด ซึ่งแนวคิดนี้ได้รับการยอมรับว่ามีเหตุผลและวัดได้

            โดยสรุปแนวคิดการประเมินหลักสูตร คือ

  1. การประเมินตามจุดประสงค์ (Goal – based) เป็นการตัดสินใจตามจุดประสงค์ของการศึกษา หรือโปรแกรมการฝึกอบรม
  2. การประเมินที่ไม่ยึดจุดประสงค์ (Goal – free) การตัดสินใจที่มีความเป็นอิสระจากผลที่เกิดจากโอกาสทางการศึกษาหรือโปรแกรม
  3. การประเมินตามหน้าที่ (Responsive) เป็นการเปรียบเทียบความมุ่งมั่นในการสอนและผลที่เกิดขึ้นจริงที่สังเกตได้
  4. การประเมินที่มุ่งการตัดสินใจ (The decision – making) เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาหรือโปรแกรมการฝึกอบรม โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อการตัดสินใจยุติหรือดำเนินการต่อไป
  5. การประเมินเพื่อการรับรอง (The accreditation) เป็นการตัดสินใจเกี่ยวกับการรับรองเกี่ยวกับกระบวนการของการพัฒนาวิชาชีพในการจัดการศึกษาหรือโปรแกรมการฝึกอบรม

ความหมายของการประเมินหลักสูตร

            คำจำกัดความของการประเมินผลที่ยอมรับกันกว้างขวาง ซึ่งปรากฏในงานเขียนของ Stake (1967), Provus (1969) and Stufflebeam and others (1971) คือ แนวคิดเกี่ยวกับการประเมินหลักสูตรว่า “การประเมินผลหลักสูตร คือ กระบวนการในการกำหนดและเก็บรวบรวมข้อมูลสารสนเทศ เพื่อที่จะนำมาใช้ในการตัดสินหาทางเลือกอื่นที่ดีกว่าเดิม”

            ครอนบัค (Cronbach) เขียนนิยามของการประเมินผลหลักสูตรในวารสาร Teachers College Record ว่า “การประเมินผลตามหลักสูตร หมายถึง การรวบรวมข้อมูลและการใช้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจในเรื่องของโปรแกรมหรือหลักสูตรการศึกษา”

            ออร์นสไตน์และฮันกิน (Ornstein and Hunkins) นิยามคำว่า การประเมินหลักสูตร หมายถึง กระบวนการหรือชุดกระบวนการที่บุคคลจัดทำขึ้นเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อตัดสินใจยอมรมับ เปลี่ยนแปลง หรือขจัดบางสิ่งบางอย่างในหลักสูตร โดยทั่วไปหรือรายละเอียดของตำราการศึกษา

การวางแผนพัฒนาการศึกษาและบทบาทการประเมินผล

  1. แผนพัฒนาการศึกษาและการประเมินผล

  • ขั้นการกำหนดวัตถุประสงค์ของการพัฒนา ซึ่งมาจากปัญหาและความต้องการทางการศึกษา
  • ขั้นกำหนดเป้าหมายของการพัฒนา
  • ขั้นกำหนดนโยบายและแนวทางในการพัฒนา
  • ขั้นการจัดทำแผนและโครงการ
  • ขั้นการนำแผนไปปฏิบัติ
  • ขั้นการประเมินแผนเพื่อปรับแผน และการจัดแผนใหม่
      2.     บทบาทการประเมินผล

บลูม และคณะ ได้แจงให้เห็นบทบาทของการประเมินผลที่จะนำมาใช้ในการศึกษา (อินทร์ ศรีคุณ 2522, น. 27 – 28)

  • การประเมินผลเป็นวิธีการที่จะได้รับหลักฐานและนำไปใช้ในการปรับปรุงการเรียนการสอน
  • การประเมินผลให้หลักฐานที่ครอบคลุมกว้างกว่าการทดสอบที่ใช้กันตามปกติในห้องเรียน
  • การประเมินผลเป็นเครื่องช่วยขยายความสำคัญของเป้าหมายและจุดประสงค์ของการศึกษา เป็นกระบวนการที่จะช่วยให้ทราบว่าผู้เรียนได้เจริญงอกงามไปตามทางที่ปรารถนานั้น
  • การประเมินผลเป็นระบบการควบคุมคุณภาพ ซึ่งใช้ในการวินิจฉัยคุณภาพของกระบวนการเรียนการสอนในแต่ละขั้นตอนว่ามีประสิทธิภาพเพียงใด ถ้าไม่มีประสิทธิภาพจะต้องปรับปรุงแก้ไขอย่างไรก่อนจะสายเกินไป
  • การประเมินผลเป็นเครื่องมือของการศึกษา โดยใช้พิจารณาประสิทธิภาพทางเลือกของกระบวนการจัดการศึกษาว่าทางใดที่จะนำไปสู่เป้าหมายที่ดีที่สุด

13. การนำหลักสูตรไปใช้ (ต่อ)



ขั้นตอนการนำหลักสูตรไปใช้

            จากลักษณะงานและกิจกรรมของการนำหลักสูตรไปใช้ สามาระสรุปขั้นตอนของการนำหลักสูตรไปใช้ดังนี้

  1. ขั้นการเตรียมการใช้หลักสูตร
  2. ขั้นดำเนินการใช้หลักสูตร
  3. ขั้นติดตามและประเมินผลการใช้หลักสูตร

  1. ขั้นการเตรียมการใช้หลักสูตร

ในการเตรียมการใช้หลักสูตรเป็นขั้นตอนที่สำคัญ เพราะการนำเอาหลักสูตรใหม่เข้ามาแทนที่หลักสูตรเดิมจะสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีก็ต่อเมื่อได้มีการเตรียมการเป็นอย่างดีนับแต่การตรวจสอบทบทวนหลักสูตรตามหลักการทฤษฎีของหลักสูตร การทำโครงการวางแผนการศึกษานำร่องหรือการทดลองใช้หลักสูตรการประเมินโครงการศึกษาทดลอง การประชาสัมพันธ์หลักสูตรและการเตรียมบุคลากรที่เกี่ยวข้องในหลักสูตร

การตรวจสอบลักษณะหลักสูตร

                        จุดประสงค์ของการตรวจสอบหรือทบทวนหลักสูตรเพื่อต้องการทราบว่าหลักสูตรที่พัฒนาเสร็จแล้วนั้นมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด เพื่อศึกษาหาวิธีการที่จะนำหลักสูตรไปใช้ปฏิบัติได้จริงตามเจตนารมณ์ของหลักสูตร รวมทั้งศึกษาองค์ประกอบและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการใช้หลักสูตรและบริบททางสังคมอื่นๆ ที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้หลักสูตร

                        การตรวจสอบลักษณะหลักสูตรเพื่อดูความชัดเจนของหลักสูตร ซึ่งได้แก่ ความกระจ่างชัดของคำชี้แจง คำอธิบายสาระสำคัญของหลักสูตร นอกจากนั้น จะดูความสอดคล้องกับองค์ประกอบหลักสูตร ได้แก่จุดประสงค์การเรียน เนื้อหาสาระ กิจกรรม ประสบการณ์การเรียน และการประเมินผลมีความสอดคล้องสัมพันธ์กันมากน้อยเพียงใด มีความเหมาะสมกับพัฒนาการของผู้เรียนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายจริงหรือไม่

            การวางแผนและทำโครงการศึกษานำร่อง

                        เป็นสิ่งที่จำเป็นจะตรวจสอบคุณภาพความเป็นไปได้ของหลักสูตรก่อนที่จะนำไปใช้จริง วิธีการนำหลักสูตรไปสู่การปฏิบัติประการแรกคือเลือกตัวแทนของกลุ่มเป้าหมายก่อนที่จะทำการใช้หลักสูตร จากนั้นแปลงหลักสูตรสู่กระบวนการเรียนการสอน พัฒนาวัสดุหลักสูตร เตรียมบุคลากรให้มีความพร้อมในการใช้หลักสูตร จัดหาแหล่งบริการสนับสนุนการใช้หลักสูตร งบประมาณ จัดสิ่งแวดล้อมที่จะสนับสนุนการสอน

            การประเมินโครงการศึกษานำร่อง

                        อาจจะกระทำได้หลายรูปแบบ เช่น การประเมินผลการเรียนจากผู้เรียน โดยการประเมินแบบย่อยและการประเมินรวบยอด การประเมินหลักสูตรหรือประเมินทั้งระบบการใช้หลักสูตร และปรับแก้จากข้อค้นพบ โดยประชุมสัมมนากับผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้หลักสูตร เพื่อนำความคิดเห็นบางส่วนมาปรับปรุงหลักสูตรให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

            การประชาสัมพันธ์หลักสูตร

                        การประชาสัมพันธ์ไม่ใช่ว่าจะมาเริ่มตอนจัดทำหลักสูตรต้นแบบเสร็จแล้ว แต่ควรเริ่มต้นตั้งแต่มีแผนการที่จะเปลี่ยนแปลงปรับปรุงหลักสูตรโดยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ทราบเป็นระยะๆ ว่า ได้มีการดำเนินการไปแล้วแค่ไหนเพียงใด ซึ่งการประชาสัมพันธ์อาจทำได้หลายรูปแบบ เช่น การออกเอกสารสิ่งพิมพ์ การใช้สื่อสารมวลชน เช่น วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ เป็นต้น นอกจากนี้การประชุมและการสัมมนาก็ต้องพิจารณา โดยสิ่งที่ควรให้ผู้เกี่ยวข้องทราบก็คือสิ่งสำคัญที่เปลี่ยนแปลงนั้นคืออะไร จะมีประโยชน์แก่ผู้เรียนและผู้เกี่ยวข้องอย่างไร และจะมีผลต่อบทบาทและหน้าที่ของเขาอย่างไร

            การเตรียมบุคลากรที่เกี่ยวข้อง

                        การอบรมครู ผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้หลักสูตรต้องคำนึงถึงและต้องกระทำอย่างรอบคอบ นับแต่ขั้นเตรียมการสำรวจข้อมูลเบื้องต้นที่นำมาใช้ในการวางแผน และวิธีการฝึกอบรมบุคลากร เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันการใช้หลักสูตรซึ่งจะมีความแตกต่างของความพร้อมของการใช้หลักสูตร วิธีการฝึกอบรมจะแตกต่างกันไปตามกลุ่มเป้าหมายของการใช้หลักสูตร เช่น ผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้อง วิธีการอบรมจะมุ่งเน้นเกี่ยวกับนโยบาย เจตนารมณ์ของหลักสูตรการจัดงบประมาณและบริการสนับสนุนการใช้หลักสูตรและการสอน วิธีการที่ใช้ส่วนมากจะเป็นการประชุมชี้แจงสาระสำคัญและแนวทางการปฏิบัติ เป็นต้น
            2.   ขั้นดำเนินการใช้หลักสูตร

การบริหารและบริการหลักสูตร หน่วยงานบริการหลักสูตรส่วนกลางของคณะพัฒนาหลักสูตรจะมีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการเตรียมบุคลากรเพื่อใช้หลักสูตรและการบริหารและบริการวัสดุหลักสูตร ส่วนงานบริหารและบริการหลักสูตรในระดับท้องถิ่น โรงเรียนก็จะจัดบุคลากรเข้าสอนตามความถนัดและความเหมาะสม การบริหารและการบริการหลักสูตรในโรงเรียน จัดสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ แก่ผู้ใช้หลักสูตร

การดำเนินการเรียนการสอนตามหลักสูตร โดยมีการปรับปรุงหลักสูตรให้สอดคล้องกับสภาพของท้องถิ่น เนื่องจากหลักสูตรที่ยกร่างมามักจะไม่สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของท้องถิ่น ดังนั้น เพื่อให้หลักสูตรมีความสอดคล้องกับสภาพของสังคมในท้องถิ่นและสามารถสนองความต้องการของผู้เรียน มีการจัดทำแผนการสอน เป็นการขยายรายละเอียดของหลักสูตรให้ไปสู่ภาคปฏิบัติโดยการกำหนดกิจกรรมและเวลาไว้อย่างชัดเจน สามารถนำไปปฏิบัติได้ แผนการควรแบ่งเป็น แผนการสอนระยะยาวและแผนการสอนระยะสั้น

            การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน จะจัดขั้นโดยครูเพื่อให้สนองเจตนารมณ์ของหลักสูตรจึงเป็นส่วนของการนำหลักสูตรไปสู่ภาคปฏิบัติโดยแท้จริง ครูผู้สอนควรพิจารณาคัดเลือกกิจกรรมที่เห็นว่าจะก่อให้เกิดความรู้ หรือประสบการณ์ และสามารถทำให้บรรลุจุดมุ่งหมายได้ง่ายที่สุด ประหยัดเวลา แรงงานและค่าใช้จ่ายให้มากที่สุด อาจจะทำการเลือกใช้เฉพาะกิจกรรมที่เห็นว่ามีประสิทธิภาพมากที่สุดเพียง 1 – 2 กิจกรรมก็เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องทำทุกๆ กิจกรรม

การสนับสนุนและส่งเสริมการใช้หลักสูตร ประกอบไปด้วย การจัดงบประมาณ การใช้อาคารสถานที่ การอบรมเพิ่มเติมระหว่างการใช้หลักสูตร และการจัดตั้งศูนย์วิชาการเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการใช้หลักสูตร
          3.    ขั้นติดตามและประเมินผลการใช้หลักสูตร

การนิเทศและติดตามการใช้หลักสูตรในโรงเรียน มีความจำเป็นอย่างยิ่งในหน่วยงานทุกแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการศึกษา เพื่อเป็นการช่วยปรับปรุงการเรียนการสอน โดยต้องคำนึงถึงหลักสำคัญของการนิเทศ คือ การให้คำแนะนำช่วยเหลือไม่ใช่การคอยตรวจสอบเพื่อจับผิด ในลักษณะเช่นนี้ผู้นิเทศจำเป็นต้องสร้างความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีกับผู้รับการนิเทศ การดำเนินการนิเทศจะต้องดำเนินไปด้วยบรรยากาศแห่งความเป็นประชาธิปไตยและร่วมมือกัน

การติดตามและการประเมินผลการใช้หลักสูตร จะต้องมีการวางแผนไว้ให้ชัดเจนว่าจะทำการประเมินส่วนใดของหลักสูตร การออกแบบการประเมินที่กว้างและลึก คือการมองภาพรวมทั้งหมดของการใช้หลักสูตรของการหาตัวบางชี้สำคัญๆ นั้นจะต้องระมัดระวังเรื่องตัวแปรทางวัฒนธรรมทางสังคมและทางเศรษฐกิจด้วย เพราะบางอย่างผู้ประเมินอาจจะมองข้ามไป

12. การนำหลักสูตรไปใช้



การนำหลักสูตรไปใช้


            การนำหลักสูตรไปใช้เป็นขั้นตอนสำคัญของการพัฒนาหลักสูตร เป็นกระบวนการดำเนินงานและกิจกรรมต่างๆ ในการนำหลักสูตรไปสู่โรงเรียนและจัดการเรียนการสอน เพื่อให้บรรลุจุดหมายของหลักสูตร การนำหลักสูตรไปใช้เป็นงานเกี่ยวข้องกับบุคคลหลายฝ่ายตั้งแต่ระดับกระทรวงถึงสถานศึกษา การนำหลักสูตรไปใช้มีความสำคัญที่ผู้เกี่ยวข้องในการนำหลักสูตรไปใช้จะต้องทำความเข้าใจกับวิธีการและขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้ความสามารถนำหลักสูตรไปใช้อย่างมีประสิทธิผลสูงสุดสมความมุ่งหมายทุกประการ


ความหมายของการนำหลักสูตรไปใช้


            การนำหลักสูตรไปใช้เป็นการปฏิบัติงานที่มีขอบเขตกว้างขวาง ทำให้การให้ความหมายของคำว่าการนำหลักสูตรไปใช้แตกต่างกันออกไป นักการศึกษาหลายท่านได้แสดงความคิดเห็นหรือให้คำนิยามของคำว่าการนำหลักสูตรไปใช้ดังนี้


            โบแชมป์ (Beauchamp, 1975: 164) ได้ให้ความหมายของการนำหลักสูตรไปใช้ว่าการนำหลักสูตรไปใช้ หมายถึง การนำหลักสูตรไปปฏิบัติ โดยประกอบด้วยกระบวนการที่สำคัญที่สุด คือการแปลงหลักสูตรไปสู่การสอน การจัดสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียนให้ครูได้มีการพัฒนาการเรียนการสอน


            สันต์ ธรรมบำรุง (2527: 120) กล่าวว่า การนำหลักสูตรไปใช้ หมายถึงการที่ผู้บริหารโรงเรียนและครูนำโครงการของหลักสูตรที่เป็นรูปเล่มนั้นไปปฏิบัติให้บังเกิดผล และรวมถึงการบริหารงานด้วยวิชาการของโรงเรียน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ครูและนักเรียนสามารถสอนและเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ


            สงัด อุทรานันทร์ (2532: 260) ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการนำหลักสูตรไปใช้ว่าเป็นขั้นตอนของการนำหลักสูตรไปสู่การเรียนการสอนในห้องเรียน ได้แก่การจัดเอกสารประกอบหลักสูตร การเตรียมบุคลากร การบริหารและบริการหลักสูตร และการนิเทศการใช้หลักสูตร


            รายงานการประชุมทางวิชาการเกี่ยวกับการใช้หลักสูตรของประเทศไทยในภูมิภาคเอเชีย (APEID, 1977: 3) กล่าวว่า การนำหลักสูตรไปใช้มีความหมายครอบคลุมตั้งแต่การพัฒนาหลักสูตรไปจนถึงการอบรมครูผู้สอนให้เป็นผู้มีสมรรถนะที่จำเป็น พร้อมที่จะนำหลักสูตรไปใช้ให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้


            สุมิตร คุณานุกร (2520: 130) กล่าวว่า การนำหลักสูตรไปใช้เป็นกระบวนการที่ทำให้หลักสูตรกลายเป็นการปฏิบัติจริง และเป็นขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการพัฒนาหลักสูตรและมีกิจกรรมที่จะกระทำได้ 3 ประการ คือ


  1. การเปลี่ยนแปลงหลักสูตรไปสู่การสอน
  2. การจัดปัจจัยและสภาพต่างๆ ภายในโรงเรียนให้บรรลุเป้าหมายของหลักสูตร
  3. การสอนของครู


จากความหมายของการนำหลักสูตรไปใช้ พอสรุปได้ว่า การนำหลักสูตรไปใช้ หมายถึง การดำเนินงานและกิจกรรมต่างๆ ในอันที่จะทำให้หลักสูตรที่สร้างขึ้นดำเนินไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย นับแต่การเตรียมบุคลากร อาคาร สถานที่ วัสดุอุปกรณ์ สภาพแวดล้อม และการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน


แนวคิดเกี่ยวกับการนำหลักสูตรไปใช้


            โบแชมป์ (Beauchamp, 1975: 169) กล่าวว่า สิ่งแรกที่ควรทำคือ การจัดสภาพแวดล้อมของโรงเรียน ครูผู้นำหลักสูตรไปใช้มีหน้าที่แปลงหลักสูตรไปสู่การสอน โดยใช้หลักสูตรเป็นหลักในการพัฒนาวิธีการสอน สิ่งที่ควรคำนึงถึงในการนำหลักสูตรไปใช้ให้ได้ผลตาเป้าหมาย คือ คือผู้สอนควรมีส่วนร่วมในการร่างหลักสูตร และผู้บริหารต้องเห็นความสำคัญและสนับสนุนการดำเนินงานให้เกิดผลสำเร็จ


            วิชัย วงษ์ใหญ่ (2521: 140 – 141) ได้ให้ความเห็นว่า ผู้มีบทบาทในการนำหลักสูตรไปใช้ให้บรรลุจุดหมายมี 3 กลุ่ม คือ ครูใหญ่ ครูประจำชั้น และชุมชน ในจำนวนนี้ครูใหญ่เป็นผู้ที่มีบทบาทมากที่สุดที่จะต้องศึกษาและวางแผนเกี่ยวกับการใช้หลักสูตรโดยมีขั้นตอนสรุปสั้นๆ ได้ดังนี้


  1. เตรียมวางแผนงาน
  2. เตรียมจัดอบรม
  3. การจัดครูเข้าสอน
  4. การจัดตารางสอน
  5. การจัดวัสดุอุปกรณ์หลักสูตร
  6. การประชาสัมพันธ์
  7. การจัดสภาพแวดล้อมและการเลือกกิจกรรมเสริมหลักสูตร
  8. การจัดโครงการประเมินผล


http://cm3associates.co.uk/wp-content/uploads/2014/10/free-business-education-1024x857.jpg


หลักการที่สำคัญในการนำหลักสูตรไปใช้


จากแนวคิดดังกล่าวข้างต้น สรุปเป็นหลักการสำคัญในการนำหลักสูตรไปใช้ได้ดังนี้


  1. จะต้องมีการวางแผนและเตรียมการในการนำหลักสูตรไปใช้ ทั้งนี้บุคลากรผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะได้ศึกษาวิเคราะห์ ทำความเข้าใจหลักสูตรที่จะนำไปใช้ให้มีความเข้าใจตรงกัน เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปในทำนองเดียวกันและสอดคล้องต่อเนื่องกัน
  2. จะต้องมีองค์คณะบุคคลทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นที่จะต้องทำหน้าที่ประสานงานกันเป็นอย่างดีในแต่ละขั้นตอนของการนำหลักสูตรใช้ นับแต่การเตรียมการนำหลักสูตรไปใช้ในด้านวิธีการ สื่อ การประเมินผล การจัดอบรมผู้ที่จะไปพัฒนาครู การอบรมผู้ใช้หลักสูตรในท้องถิ่น การนำหลักสูตรไปใช้ของครู และการติดตามประเมินผลการใช้หลักสูตรของครู ฯลฯ
  3. การนำหลักสูตรไปใช้จะต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบเป็นไปตามขั้นตอนที่วางแผนและเตรียมการไว้
  4. การนำหลักสูตรไปใช้จะต้องคำนึงถึงปัจจัยสำคัญที่จะช่วยในการนำหลักสูตรไปใช้ประสบความสำเร็จได้ ปัจจัยต่างๆ เหล่านั้นคือ งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ เอกสารหลักสูตรต่างๆ ตลอดจนสถานที่ที่จะเป็นแหล่งให้ความรู้ประสบการณ์ต่างๆ สิ่งเหล่านี้จะต้องได้รับการจัดเตรียมไว้เป็นอย่างดี และพร้อมทั้งจะให้การสนับสนุนเมื่อได้รับการร้องขอ
  5. ครูเป็นบุคลากรที่สำคัญที่สุดในการนำหลักสูตรไปใช้ ดังนั้นครูจะต้องได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่และจริงจัง เริ่มตั้งแค่การอบรมให้ความรู้ ความเข้าใจทักษะ และเจตคติเกี่ยวกับการใช้หลักสูตรอย่างเข้มแข็ง การให้การสนับสนุนด้านปัจจัยต่างๆ แก่ครู และพัฒนาตัวครูเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสอน
  6. การนำหลักสูตรไปใช้ ควรจัดตั้งให้มีหน่วยงานที่มีผู้ชำนาญการพิเศษ เพื่อให้การสนับสนุนและพัฒนาครู โดยทำหน้าที่นิเทศ ติดตามผลและควรปฏิบัติงานร่วมกับครูอย่างใกล้ชิด
  7. หน่วยงานและบุคลากรในฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนำหลักสูตรไปใช้ไม่ว่าจะเป็นส่วนกลางหรือส่วนท้องถิ่น ต้องปฏิบัติงานในบทบาทหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่และเต็มความสามารถ
  8. การนำหลักสูตรไปใช้สำหรับผู้ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทุกหน่วยงานจะต้องมีการติดตามและประเมินผลเป็นระยะๆ ซึ่งจะต้องกำหนดไว้ในแผนปฏิบัติการ ทั้งนี้เพื่อจะได้นำข้อมูลต่างๆ มาประเมิน วิเคราะห์ เพื่อพัฒนาทั้งในแง่ของการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและการวางแนวทางในการนำหลักสูตรไปใช้ให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น