วันพุธที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

3. พื้นฐานการพัฒนาหลักสูตร

พื้นฐานการพัฒนาหลักสูตรด้านปรัชญา
            ปรัชญามีส่วนสำคัญต่อการสร้าง หรือการพัฒนาหลักสูตร การพัฒนาหลักสูตรจะใช้ปรัชญาช่วยในการกำหนดจุดประสงค์ ในการจัดหลักสูตรและการจัดการสอน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่ามีความเชื่อหรือยึดถือปรัชญาใด ดังจะยกตัวอย่างการจัดหลักสูตรตามแนวของปรัชญาการศึกษาต่างๆ ที่สำคัญ ดังนี้
ปรัชญาสารนิยม (Essentialism)
            มีความเชื่อว่าแต่ละวัฒนธรรมมีความรู้ ทักษะ ความเชื่อ อุดมการณ์ ฯลฯ ที่เป็นแกนกลางหรือเป็นหลัก ทุกคนในวัฒนธรรมนั้นควรรู้สิ่งเหล่านี้และระบบการศึกษามุ่งถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้แก่เยาวชน ข้อสังเกตปรัชญาการศึกษาสารนิยม ได้แก่ กระบวนการเรียนรู้ต้องผ่านจิต โดยญาณและแรงบันดาลใจ จิตของผู้เรียนพัฒนามากเท่าใดก็มีโอกาสที่จะเป็นจิตสมบูรณ์มากขึ้นเท่านั้น สาระสำคัญของความรู้ คือ วิชาที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ และความรู้ปัจจุบัน ซึ่งเน้นปริมาณความรู้เป็นสำคัญ เน้นการสอนที่มุ่งจะฝึก (The three R’s)
ปรัชญาสัจจวิทยานิยม (Perenialism)
            มีความเชื่อว่าสิ่งสำคัญที่สุกของธรรมชาติของมนุษย์คือความสามารถในการใช้ความคิด ความสามารถในการใช้เหตุผล การตัดสินแยกแยะ จึงเน้นความสำคัญของวิชาพื้นฐานทั้งสามคือ การอ่าน การเขียน และการคำนวณ (The three R’s) มุ่งที่จะเตรียมให้เด็กเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต
ปรัชญาพิพัฒนาการ (Progressivism)
            มีความเชื่อว่านักเรียนจะเรียนรู้ได้โดยอาศัยประสบการณ์ ครูมีหน้าที่จัดประสบการณ์ให้แก่เด็กๆ เน้นประสบการณ์ของมนุษย์เป็นพื้นฐานของความรู้ ภายใต้สภาพการณ์ของทุกสิ่งในโลกนี้กำลังเปลี่ยนแปลง กระบวนการเรียนรู้แบบวิทยาศาสตร์จะทำให้เด็กรู้ว่า จะคิดอย่างไร ให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม
ปรัชญาปฏิรูปนิยม (Reconstructionism)
            เน้นในเรื่องชีวิตและสังคม ความมุ่งหมายของหลักสูตรจะเน้นการพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ ความสามารถ และทัศนคติที่จะออกไปปฏิรูปสังคมให้ดีขึ้น การสอนจะไม่เน้นการถ่ายทอดความรู้โดยการบรรยายของครูมาก แต่มุ่งให้ผู้เรียนสำรวจความสนใจ ความต้องการของตนเอง เน้นการอภิปรายและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ
ปรัชญาอัตถิภาวนิยม (Existentialism)
            มีความเชื่อว่าบุคคลย่อมเป็นตัวของตัวเอง มีเสรีภาพและความรับผิดชอบของตัวเอง แต่ละคนสามารถกำหนดชีวิตของตนเองได้ เปิกโอกาสให้ผู้เรียนเลือกแนวทางที่ถนัด โดยเรียนจากประสบการณ์ในชีวิตจริง เน้นวิชาที่เสริมสร้างประสบการณ์ทางสังคม มีความสำคัญในแง่ของการวิธีการที่นำมาใช้ คือ กระบวนการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ผู้เรียนมีความสามารถในการแก้ปัญหาในบทเรียน และนำเอากระบวนการแก้ปัญหาไปใช้ในชีวิตประจำวัน

พื้นฐานการพัฒนาหลักสูตรด้านจิตวิทยา
            ในการจัดทำหลักสูตร ต้องคำนึงว่าต้องพยายามจัดหลักสูตรให้สนองความต้องการและความสนใจของผู้เรียนอย่างแท้จริง ด้านการศึกษาข้อมูลพื้นฐานทางด้านจิตวิทยา รวมทั้งศึกษาทฤษฎีการเรียนรู้ทั้ง 4 กลุ่ม คือ กลุ่มพฤติกรรมนิยม กลุ่มปัญญานิยม กลุ่มมนุษยนิยม และกลุ่มสรรค์สร้างนิยม
แนวคิดของนักจิตวิทยากลุ่มพฤติกรรมนิยม (Behaviorism) มีความเชื่อว่าการเรียนรู้และพฤติกรรมของมนุษย์เกิดขึ้นและสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าได้รับสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ลักษณะรูปแบบหลักสูตรตจะเน้นเนื้อหาวิชาเป็นหลัก การจัดหลักสูตรและประสบการณ์การเรียนรู้เป็นหมวดหมู่มีลักษณะต่อเนื่อง ผู้สอนเป็นศูนย์กลางจะควบคุมกิจกรรมการเรียนการสอน โดยจะพัฒนาผู้เรียนไปตามที่กำหนด
แนวคิดของกลุ่มปัญญานิยม (Cognitivism) จะมุ่งเน้นการอธิบายพัฒนาการของมนุษย์ที่เน้นความสามารถทางสติปัญญา หรือสนองตามความเชื่อว่ามนุษย์เกิดการเรียนรู้ และแสดงพฤติกรรมได้โดยรับกระบวนการพัฒนาทางสติปัญญา ลักษณะการจัดหลักสูตรจะเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง การออกแบบหลักสูตรประสบการณ์การเรียนและการสอน จะจัดตามลำดับขั้นของการพัฒนาของผู้เรียนแต่ละวัย โดยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้แบบค้นพบหรือการแก้ปัญหา เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีกระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์
แนวคิดของกลุ่มมนุษยนิยม (Humanism) เชื่อว่ามนุษย์มีศักยภาพพร้อมที่จะพัฒนา มีสิทธิที่จะเลือกและกระทำตามความมุ่งหวังของตนเอง ลักษณะการจัดหลักสูตรเพื่อชีวิตและสังคม โดยพัฒนาผู้เรียนให้เป็นสมาชิกที่ดีของสังคม เป็นบุคคลที่มีคุณภาพ บทบาทของผู้สอนจะเป็นผู้เอื้ออำนวยการเรียนรู้ กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจ เปิดโอกาสและกระตุ้นให้ผู้เรียนรู้จักรับผิดชอบและเตรียมตัวสำหรับการดำเนินชีวิตในอนาคต
แนวคิดกลุ่มสรรค์สร้างนิยม (Constructivism) เชื่อว่าโครงสร้างทางปัญญาของมนุษย์สร้างขึ้นจากประสบการณ์ในการคลี่คลายสถานการณ์ที่เป็นปัญหาและสามารถนำไปใช้เป็นฐานในการแก้ปัญหาหรืออธิบายสถานการณ์อื่นๆ ได้ ผู้เรียนจะเป็นผู้สร้างการเรียนรู้ด้วยวิธีการต่างๆ โดยอาศัยประสบการณ์และโครงสร้างทางปัญญาที่มีอยู่เดิม เน้นในการสร้างความรู้ (Constructing) ผ่านกระบวนการภายในที่เกิดจากการป้อนจากภายนอก

พื้นฐานการพัฒนาหลักสูตรด้านสังคมและวัฒนธรรม
            การศึกษาทำหน้าที่อนุรักษ์และถ่ายทอดวัฒนธรรมของสังคมไปสู่คนรุ่นหลังและปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของสังคมให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงด้านวิทยาศาสตร์ เพราะฉะนั้นหลักสูตรจึงต้องมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสังคมอย่างแยกไม่ออก และโดยธรรมชาติของสังคมและวัฒนธรรมมักมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ดังนั้น การพัฒนาหลักสูตรจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงข้อมูลทางสังคมและวัฒนธรรมที่เป็นปัจจุบันเสมอ สามารถจำแนกข้อมูลให้เห็นชัดเจนได้ดังนี้
โครงสร้างของสังคม มีการแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ลักษณะสังคมชนบทหรือสังคมเกษตรกรรม และสังคมเมืองหรือสังคมอุตสาหกรรม สังคมอุตสาหกรรมมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน แต่สังคมโดยส่วนใหญ่ก็ยังเป็นเกษตรกรรมอยู่ ดังนั้น การพัฒนาหลักสูตรจำเป็นต้องทราบโครงสร้างสังคมในปัจจุบันเพื่อนำข้อมูลมาจัดหลักสูตรว่าจะจัดหลักสูตรอย่างไรเพื่อยกระดับการพัฒนาสังคมเกษตรกรรมและเตรียมพื้นฐานเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมตามความจำเป็น
การชี้นำสังคมในอนาคต การศึกษาควรมีบทบาทในการชี้นำสังคมในอนาคตด้วย เพราะในอดีตที่ผ่านมาระบบการศึกษา และระบบพัฒนาหลักสูตรของไทยเป็นลักษณะของการตั้งรับมาโดยตลอด เช่น การตั้งรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เช่น กะแสความเจริญของประเทศทางตะวันตก กระแสวิชาการตะวันตก ความต้องการและปัญหาสังคม จึงทำให้การศึกษาเป็นตัวตาม ฉะนั้นการจัดการศึกษาที่ดีควรใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศในอนาคตให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ จึงควรศึกษาข้อมูลชี้นำสังคมในอนาคต เช่น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแนวโน้มของสังคมโลกอนาคต


https://sites.google.com/site/supoldee/thvsdi-kar-srang-khwam-ru



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น