วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

5. ผู้มีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตร สภาพปัญหาในการพัฒนาหลักสูตร


ผู้มีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตร สภาพปัญหาของการพัฒนาหลักสูตรและการใช้หลักสูตรสถานศึกษา

ผู้มีส่วนร่วมในสถานศึกษา
          ผู้ที่มีส่วนร่วมกับการพัฒนาหลักสูตร คือ นักพัฒนาหลักสูตร ซึ่งเป็นคำทั่วไปหมายถึงนักการศึกษาต่างๆ ตั้งแต่ครูไปจนถึงผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา โดยเป็นใครก็ได้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งกับการพัฒนาหลักสูตร การนำหลักสูตรไปใช้ หรือการประเมินผลหลักสูตร
            นักพัฒนาหลักสูตรมีตำแหน่งต่างๆ กัน อย่างไรก็ตามครูเป็นสมาชิกคนหนึ่งในการทำหลักสูตรและทำงานกับศึกษานิเทศก์และผู้บริหาร ซึ่งมีส่วนอยู่กับคณะทำงานหลักสูตรเหมือนกัน การให้ครูมาทำหน้าที่เป็นนักพัฒนาหลักสูตรแต่เนิ่นๆ มีความจำเป็นต่อความก้าวหน้าของครูและความสำคัญแต่สถานศึกษาและเขตพื้นที่การศึกษา ในที่ซึ่งจำเป็นต้องมีการให้ความกระจ่างเกี่ยวกับความรับผิดชอบของนักพัฒนาหลักสูตร ควรพิจารณาต่อไปนี้
  1. พัฒนาวิธีการและเครื่องมือทางวิชาการเพื่อดำเนินการวางแผนหลักสูตรสถานศึกษา
  2. ผสมผสานการสร้างทฤษฎีให้เข้ากับการปฏิบัติ หาความรู้เกี่ยวกับหลักสูตรและใช้ความรู้นี้กับโลกที่เป็นจริงของชั้นเรียนและสถานศึกษา
  3. ทำความตกลงเกี่ยวกับสิ่งที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาและการสร้างหลักสูตร รวมทั้งความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นกับองค์ประกอบของหลักสูตร
  4. ทำความตกลงในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างหลักสูตร การสอน และการนิเทศ รวมทั้งภาษาเฉพาะของแต่ละสาขาวิชา
  5. ทำหน้าที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ซึ่งพิจารณาว่าสถานศึกษาในบริบทกับสังคมทำความสมดุลระหว่างความต้องการและทัศนะของชุมชนท้องถิ่นกับความสนใจและเป้าหมายของประเทศ
  6. สร้างพันธกิจหรือเป้าหมายเพื่อให้ทิศทางและเน้นพฤติกรรมภายในองค์กร
  7. หารือกับกลุ่มผู้ปกครอง ชุมชน และนักวิชาการ มีทักษะในด้านมนุษย์สัมพันธ์และในการทำงานกับกลุ่มและแต่ละบุคคล
  8. พัฒนาโครงการในการพัฒนา การนำไปใช้ และการประเมินหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง
สภาพปัญหาของการพัฒนาหลักสูตร
ปัญหาด้านภาวะผู้นำในการพัฒนาหลักสูตร
            ไม่ว่าจะพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างเนื้อหา ประสบการณ์และสภาพแวดล้อมกันอย่างไร ศูนย์กลางในการพัฒนาหลักสูตรยังคงเป็นหน้าที่ของสถานศึกษาในท้องถิ่นต่อไปอีก ซึ่งสถานศึกษาทำได้มากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับความสามารถและการปฏิบัติงานของผู้บริหารสถานศึกษา
            ปัญหาประการหนึ่งคือ ความขัดแย้งระหว่างบุคลากรสถานศึกษา (ครูและผู้อำนวยการ)กับศึกษานิเทศก์จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ด้วยเหตุนี้บางครั้งศึกษานิเทศก์จึงส่งผ่านหรือละเลยหน้าที่ความเป็นผู้นำหลักสูตรในสถานศึกษาที่ตนรับผิดชอบ ในขณะเดียวกันผู้อำนวยการมักไม่รับฟังคำแนะนำและความช่วยเหลือจากศึกษานิเทศก์
            นอกจากนี้มีข้อแตกต่างเกิดขึ้นระหว่างผู้บริหารสถานศึกษาระดับประถมและมัธยม ผู้บริหารระดับประถมส่วนใหญ่อุทิศเวลาให้กับเรื่องหลักสูตรและการสอนมากกว่าผู้บริหารระดับมัธยม และมองตัวเองว่าเป็นผู้นำหลักสูตรหรือ การสอนมากกว่าเป็นผู้บริหาร ส่วนผู้บริหารสถานศึกษาระดับมัธยมมักบ่นว่ามีเวลาให้กับหลักสูตรและการสอนน้อย และถือว่าตนเองเป็นผู้บริหาร (Brubaker and Simon. 1987: 72 – 78; English. 1995: 18 – 25)
            ข้อแตกต่างส่วนหนึ่งคือ ขนาดสถานศึกษาภายในเขตพื้นที่การศึกษาเดียวกัน ตามปกติสถานศึกษาระดับมัธยมมีขนาดเป็น 2 – 4 เท่าของสถานศึกษาระดับประถม ในสถานศึกษาระดับมัธยมที่มีนักเรียนมากกว่า 1,000 คน ผู้อำนวยการมีความสนใจปัญหาการบริหารในรายละเอียด และโครงสร้างรูปนัยมากกว่าบุคคล (Ornstein. 1990: 34 – 45) อีกเหตุผลคือ สถานศึกษามัธยมขนาดกลางและขนาดใหญ่ ตามปกติจะมีครูหัวหน้าสายวิชาซึ่งวางแผนกับครูและนิเทศหลักสูตรและการเรียนการสอน ส่วนระดับประถมศึกษาไม่มีครูหัวหน้าสายและเน้นการเรียนการสอนระดับไตรภาค คือ การอ่านออก เขียนได้ และคิดเลขเป็น ซึ่งผู้อำนวยการสถานศึกษาต้องใช้ภาวะผู้นำในด้านหลักสูตรและการสอนในด้านหลักสูตรและการเรียนการสอนในการศึกษาระดับพื้นฐาน
            ดังนั้นจึงต้องมีความสมดุลในเขตพื้นที่การศึกษาขนาดใหญ่ ผู้นำหลักสูตรในสำนักงานกลางควรให้โอกาสบุคลากรในโรงเรียนมามีส่วนเกี่ยวข้องกับหลักสูตร ในเขตพื้นที่ขนาดเล็ก ครูที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรควรได้เบี้ยเลี้ยงหรือยกเว้นไม่ทำงานอื่นเพื่อให้มีเวลาอุทิศให้กับการทำงานหลักสูตร ผู้บริหารโรงเรียนควรคิดเสมอว่าครูปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบสำคัญอยู่แล้ว คือ การสอน ไม่ใช่งานพัฒนาหลักสูตร ดังนั้นครูจึงมีทางเลือกในการปฏิเสธความรับผิดชอบนี้ได้


รศ. ดร.สุนทร โคตรบรรเทา. (2553). การพัฒนาหลักสูตรและการนำไปใช้ (Curriculum Development and Implementation). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ปัญญาชน.



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น