วันอาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

13. การนำหลักสูตรไปใช้ (ต่อ)



ขั้นตอนการนำหลักสูตรไปใช้

            จากลักษณะงานและกิจกรรมของการนำหลักสูตรไปใช้ สามาระสรุปขั้นตอนของการนำหลักสูตรไปใช้ดังนี้

  1. ขั้นการเตรียมการใช้หลักสูตร
  2. ขั้นดำเนินการใช้หลักสูตร
  3. ขั้นติดตามและประเมินผลการใช้หลักสูตร

  1. ขั้นการเตรียมการใช้หลักสูตร

ในการเตรียมการใช้หลักสูตรเป็นขั้นตอนที่สำคัญ เพราะการนำเอาหลักสูตรใหม่เข้ามาแทนที่หลักสูตรเดิมจะสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีก็ต่อเมื่อได้มีการเตรียมการเป็นอย่างดีนับแต่การตรวจสอบทบทวนหลักสูตรตามหลักการทฤษฎีของหลักสูตร การทำโครงการวางแผนการศึกษานำร่องหรือการทดลองใช้หลักสูตรการประเมินโครงการศึกษาทดลอง การประชาสัมพันธ์หลักสูตรและการเตรียมบุคลากรที่เกี่ยวข้องในหลักสูตร

การตรวจสอบลักษณะหลักสูตร

                        จุดประสงค์ของการตรวจสอบหรือทบทวนหลักสูตรเพื่อต้องการทราบว่าหลักสูตรที่พัฒนาเสร็จแล้วนั้นมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด เพื่อศึกษาหาวิธีการที่จะนำหลักสูตรไปใช้ปฏิบัติได้จริงตามเจตนารมณ์ของหลักสูตร รวมทั้งศึกษาองค์ประกอบและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการใช้หลักสูตรและบริบททางสังคมอื่นๆ ที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้หลักสูตร

                        การตรวจสอบลักษณะหลักสูตรเพื่อดูความชัดเจนของหลักสูตร ซึ่งได้แก่ ความกระจ่างชัดของคำชี้แจง คำอธิบายสาระสำคัญของหลักสูตร นอกจากนั้น จะดูความสอดคล้องกับองค์ประกอบหลักสูตร ได้แก่จุดประสงค์การเรียน เนื้อหาสาระ กิจกรรม ประสบการณ์การเรียน และการประเมินผลมีความสอดคล้องสัมพันธ์กันมากน้อยเพียงใด มีความเหมาะสมกับพัฒนาการของผู้เรียนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายจริงหรือไม่

            การวางแผนและทำโครงการศึกษานำร่อง

                        เป็นสิ่งที่จำเป็นจะตรวจสอบคุณภาพความเป็นไปได้ของหลักสูตรก่อนที่จะนำไปใช้จริง วิธีการนำหลักสูตรไปสู่การปฏิบัติประการแรกคือเลือกตัวแทนของกลุ่มเป้าหมายก่อนที่จะทำการใช้หลักสูตร จากนั้นแปลงหลักสูตรสู่กระบวนการเรียนการสอน พัฒนาวัสดุหลักสูตร เตรียมบุคลากรให้มีความพร้อมในการใช้หลักสูตร จัดหาแหล่งบริการสนับสนุนการใช้หลักสูตร งบประมาณ จัดสิ่งแวดล้อมที่จะสนับสนุนการสอน

            การประเมินโครงการศึกษานำร่อง

                        อาจจะกระทำได้หลายรูปแบบ เช่น การประเมินผลการเรียนจากผู้เรียน โดยการประเมินแบบย่อยและการประเมินรวบยอด การประเมินหลักสูตรหรือประเมินทั้งระบบการใช้หลักสูตร และปรับแก้จากข้อค้นพบ โดยประชุมสัมมนากับผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้หลักสูตร เพื่อนำความคิดเห็นบางส่วนมาปรับปรุงหลักสูตรให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

            การประชาสัมพันธ์หลักสูตร

                        การประชาสัมพันธ์ไม่ใช่ว่าจะมาเริ่มตอนจัดทำหลักสูตรต้นแบบเสร็จแล้ว แต่ควรเริ่มต้นตั้งแต่มีแผนการที่จะเปลี่ยนแปลงปรับปรุงหลักสูตรโดยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ทราบเป็นระยะๆ ว่า ได้มีการดำเนินการไปแล้วแค่ไหนเพียงใด ซึ่งการประชาสัมพันธ์อาจทำได้หลายรูปแบบ เช่น การออกเอกสารสิ่งพิมพ์ การใช้สื่อสารมวลชน เช่น วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ เป็นต้น นอกจากนี้การประชุมและการสัมมนาก็ต้องพิจารณา โดยสิ่งที่ควรให้ผู้เกี่ยวข้องทราบก็คือสิ่งสำคัญที่เปลี่ยนแปลงนั้นคืออะไร จะมีประโยชน์แก่ผู้เรียนและผู้เกี่ยวข้องอย่างไร และจะมีผลต่อบทบาทและหน้าที่ของเขาอย่างไร

            การเตรียมบุคลากรที่เกี่ยวข้อง

                        การอบรมครู ผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้หลักสูตรต้องคำนึงถึงและต้องกระทำอย่างรอบคอบ นับแต่ขั้นเตรียมการสำรวจข้อมูลเบื้องต้นที่นำมาใช้ในการวางแผน และวิธีการฝึกอบรมบุคลากร เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันการใช้หลักสูตรซึ่งจะมีความแตกต่างของความพร้อมของการใช้หลักสูตร วิธีการฝึกอบรมจะแตกต่างกันไปตามกลุ่มเป้าหมายของการใช้หลักสูตร เช่น ผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้อง วิธีการอบรมจะมุ่งเน้นเกี่ยวกับนโยบาย เจตนารมณ์ของหลักสูตรการจัดงบประมาณและบริการสนับสนุนการใช้หลักสูตรและการสอน วิธีการที่ใช้ส่วนมากจะเป็นการประชุมชี้แจงสาระสำคัญและแนวทางการปฏิบัติ เป็นต้น
            2.   ขั้นดำเนินการใช้หลักสูตร

การบริหารและบริการหลักสูตร หน่วยงานบริการหลักสูตรส่วนกลางของคณะพัฒนาหลักสูตรจะมีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการเตรียมบุคลากรเพื่อใช้หลักสูตรและการบริหารและบริการวัสดุหลักสูตร ส่วนงานบริหารและบริการหลักสูตรในระดับท้องถิ่น โรงเรียนก็จะจัดบุคลากรเข้าสอนตามความถนัดและความเหมาะสม การบริหารและการบริการหลักสูตรในโรงเรียน จัดสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ แก่ผู้ใช้หลักสูตร

การดำเนินการเรียนการสอนตามหลักสูตร โดยมีการปรับปรุงหลักสูตรให้สอดคล้องกับสภาพของท้องถิ่น เนื่องจากหลักสูตรที่ยกร่างมามักจะไม่สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของท้องถิ่น ดังนั้น เพื่อให้หลักสูตรมีความสอดคล้องกับสภาพของสังคมในท้องถิ่นและสามารถสนองความต้องการของผู้เรียน มีการจัดทำแผนการสอน เป็นการขยายรายละเอียดของหลักสูตรให้ไปสู่ภาคปฏิบัติโดยการกำหนดกิจกรรมและเวลาไว้อย่างชัดเจน สามารถนำไปปฏิบัติได้ แผนการควรแบ่งเป็น แผนการสอนระยะยาวและแผนการสอนระยะสั้น

            การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน จะจัดขั้นโดยครูเพื่อให้สนองเจตนารมณ์ของหลักสูตรจึงเป็นส่วนของการนำหลักสูตรไปสู่ภาคปฏิบัติโดยแท้จริง ครูผู้สอนควรพิจารณาคัดเลือกกิจกรรมที่เห็นว่าจะก่อให้เกิดความรู้ หรือประสบการณ์ และสามารถทำให้บรรลุจุดมุ่งหมายได้ง่ายที่สุด ประหยัดเวลา แรงงานและค่าใช้จ่ายให้มากที่สุด อาจจะทำการเลือกใช้เฉพาะกิจกรรมที่เห็นว่ามีประสิทธิภาพมากที่สุดเพียง 1 – 2 กิจกรรมก็เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องทำทุกๆ กิจกรรม

การสนับสนุนและส่งเสริมการใช้หลักสูตร ประกอบไปด้วย การจัดงบประมาณ การใช้อาคารสถานที่ การอบรมเพิ่มเติมระหว่างการใช้หลักสูตร และการจัดตั้งศูนย์วิชาการเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการใช้หลักสูตร
          3.    ขั้นติดตามและประเมินผลการใช้หลักสูตร

การนิเทศและติดตามการใช้หลักสูตรในโรงเรียน มีความจำเป็นอย่างยิ่งในหน่วยงานทุกแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการศึกษา เพื่อเป็นการช่วยปรับปรุงการเรียนการสอน โดยต้องคำนึงถึงหลักสำคัญของการนิเทศ คือ การให้คำแนะนำช่วยเหลือไม่ใช่การคอยตรวจสอบเพื่อจับผิด ในลักษณะเช่นนี้ผู้นิเทศจำเป็นต้องสร้างความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีกับผู้รับการนิเทศ การดำเนินการนิเทศจะต้องดำเนินไปด้วยบรรยากาศแห่งความเป็นประชาธิปไตยและร่วมมือกัน

การติดตามและการประเมินผลการใช้หลักสูตร จะต้องมีการวางแผนไว้ให้ชัดเจนว่าจะทำการประเมินส่วนใดของหลักสูตร การออกแบบการประเมินที่กว้างและลึก คือการมองภาพรวมทั้งหมดของการใช้หลักสูตรของการหาตัวบางชี้สำคัญๆ นั้นจะต้องระมัดระวังเรื่องตัวแปรทางวัฒนธรรมทางสังคมและทางเศรษฐกิจด้วย เพราะบางอย่างผู้ประเมินอาจจะมองข้ามไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น