วันอาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

12. การนำหลักสูตรไปใช้



การนำหลักสูตรไปใช้


            การนำหลักสูตรไปใช้เป็นขั้นตอนสำคัญของการพัฒนาหลักสูตร เป็นกระบวนการดำเนินงานและกิจกรรมต่างๆ ในการนำหลักสูตรไปสู่โรงเรียนและจัดการเรียนการสอน เพื่อให้บรรลุจุดหมายของหลักสูตร การนำหลักสูตรไปใช้เป็นงานเกี่ยวข้องกับบุคคลหลายฝ่ายตั้งแต่ระดับกระทรวงถึงสถานศึกษา การนำหลักสูตรไปใช้มีความสำคัญที่ผู้เกี่ยวข้องในการนำหลักสูตรไปใช้จะต้องทำความเข้าใจกับวิธีการและขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้ความสามารถนำหลักสูตรไปใช้อย่างมีประสิทธิผลสูงสุดสมความมุ่งหมายทุกประการ


ความหมายของการนำหลักสูตรไปใช้


            การนำหลักสูตรไปใช้เป็นการปฏิบัติงานที่มีขอบเขตกว้างขวาง ทำให้การให้ความหมายของคำว่าการนำหลักสูตรไปใช้แตกต่างกันออกไป นักการศึกษาหลายท่านได้แสดงความคิดเห็นหรือให้คำนิยามของคำว่าการนำหลักสูตรไปใช้ดังนี้


            โบแชมป์ (Beauchamp, 1975: 164) ได้ให้ความหมายของการนำหลักสูตรไปใช้ว่าการนำหลักสูตรไปใช้ หมายถึง การนำหลักสูตรไปปฏิบัติ โดยประกอบด้วยกระบวนการที่สำคัญที่สุด คือการแปลงหลักสูตรไปสู่การสอน การจัดสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียนให้ครูได้มีการพัฒนาการเรียนการสอน


            สันต์ ธรรมบำรุง (2527: 120) กล่าวว่า การนำหลักสูตรไปใช้ หมายถึงการที่ผู้บริหารโรงเรียนและครูนำโครงการของหลักสูตรที่เป็นรูปเล่มนั้นไปปฏิบัติให้บังเกิดผล และรวมถึงการบริหารงานด้วยวิชาการของโรงเรียน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ครูและนักเรียนสามารถสอนและเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ


            สงัด อุทรานันทร์ (2532: 260) ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการนำหลักสูตรไปใช้ว่าเป็นขั้นตอนของการนำหลักสูตรไปสู่การเรียนการสอนในห้องเรียน ได้แก่การจัดเอกสารประกอบหลักสูตร การเตรียมบุคลากร การบริหารและบริการหลักสูตร และการนิเทศการใช้หลักสูตร


            รายงานการประชุมทางวิชาการเกี่ยวกับการใช้หลักสูตรของประเทศไทยในภูมิภาคเอเชีย (APEID, 1977: 3) กล่าวว่า การนำหลักสูตรไปใช้มีความหมายครอบคลุมตั้งแต่การพัฒนาหลักสูตรไปจนถึงการอบรมครูผู้สอนให้เป็นผู้มีสมรรถนะที่จำเป็น พร้อมที่จะนำหลักสูตรไปใช้ให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้


            สุมิตร คุณานุกร (2520: 130) กล่าวว่า การนำหลักสูตรไปใช้เป็นกระบวนการที่ทำให้หลักสูตรกลายเป็นการปฏิบัติจริง และเป็นขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการพัฒนาหลักสูตรและมีกิจกรรมที่จะกระทำได้ 3 ประการ คือ


  1. การเปลี่ยนแปลงหลักสูตรไปสู่การสอน
  2. การจัดปัจจัยและสภาพต่างๆ ภายในโรงเรียนให้บรรลุเป้าหมายของหลักสูตร
  3. การสอนของครู


จากความหมายของการนำหลักสูตรไปใช้ พอสรุปได้ว่า การนำหลักสูตรไปใช้ หมายถึง การดำเนินงานและกิจกรรมต่างๆ ในอันที่จะทำให้หลักสูตรที่สร้างขึ้นดำเนินไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย นับแต่การเตรียมบุคลากร อาคาร สถานที่ วัสดุอุปกรณ์ สภาพแวดล้อม และการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน


แนวคิดเกี่ยวกับการนำหลักสูตรไปใช้


            โบแชมป์ (Beauchamp, 1975: 169) กล่าวว่า สิ่งแรกที่ควรทำคือ การจัดสภาพแวดล้อมของโรงเรียน ครูผู้นำหลักสูตรไปใช้มีหน้าที่แปลงหลักสูตรไปสู่การสอน โดยใช้หลักสูตรเป็นหลักในการพัฒนาวิธีการสอน สิ่งที่ควรคำนึงถึงในการนำหลักสูตรไปใช้ให้ได้ผลตาเป้าหมาย คือ คือผู้สอนควรมีส่วนร่วมในการร่างหลักสูตร และผู้บริหารต้องเห็นความสำคัญและสนับสนุนการดำเนินงานให้เกิดผลสำเร็จ


            วิชัย วงษ์ใหญ่ (2521: 140 – 141) ได้ให้ความเห็นว่า ผู้มีบทบาทในการนำหลักสูตรไปใช้ให้บรรลุจุดหมายมี 3 กลุ่ม คือ ครูใหญ่ ครูประจำชั้น และชุมชน ในจำนวนนี้ครูใหญ่เป็นผู้ที่มีบทบาทมากที่สุดที่จะต้องศึกษาและวางแผนเกี่ยวกับการใช้หลักสูตรโดยมีขั้นตอนสรุปสั้นๆ ได้ดังนี้


  1. เตรียมวางแผนงาน
  2. เตรียมจัดอบรม
  3. การจัดครูเข้าสอน
  4. การจัดตารางสอน
  5. การจัดวัสดุอุปกรณ์หลักสูตร
  6. การประชาสัมพันธ์
  7. การจัดสภาพแวดล้อมและการเลือกกิจกรรมเสริมหลักสูตร
  8. การจัดโครงการประเมินผล


http://cm3associates.co.uk/wp-content/uploads/2014/10/free-business-education-1024x857.jpg


หลักการที่สำคัญในการนำหลักสูตรไปใช้


จากแนวคิดดังกล่าวข้างต้น สรุปเป็นหลักการสำคัญในการนำหลักสูตรไปใช้ได้ดังนี้


  1. จะต้องมีการวางแผนและเตรียมการในการนำหลักสูตรไปใช้ ทั้งนี้บุคลากรผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะได้ศึกษาวิเคราะห์ ทำความเข้าใจหลักสูตรที่จะนำไปใช้ให้มีความเข้าใจตรงกัน เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปในทำนองเดียวกันและสอดคล้องต่อเนื่องกัน
  2. จะต้องมีองค์คณะบุคคลทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นที่จะต้องทำหน้าที่ประสานงานกันเป็นอย่างดีในแต่ละขั้นตอนของการนำหลักสูตรใช้ นับแต่การเตรียมการนำหลักสูตรไปใช้ในด้านวิธีการ สื่อ การประเมินผล การจัดอบรมผู้ที่จะไปพัฒนาครู การอบรมผู้ใช้หลักสูตรในท้องถิ่น การนำหลักสูตรไปใช้ของครู และการติดตามประเมินผลการใช้หลักสูตรของครู ฯลฯ
  3. การนำหลักสูตรไปใช้จะต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบเป็นไปตามขั้นตอนที่วางแผนและเตรียมการไว้
  4. การนำหลักสูตรไปใช้จะต้องคำนึงถึงปัจจัยสำคัญที่จะช่วยในการนำหลักสูตรไปใช้ประสบความสำเร็จได้ ปัจจัยต่างๆ เหล่านั้นคือ งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ เอกสารหลักสูตรต่างๆ ตลอดจนสถานที่ที่จะเป็นแหล่งให้ความรู้ประสบการณ์ต่างๆ สิ่งเหล่านี้จะต้องได้รับการจัดเตรียมไว้เป็นอย่างดี และพร้อมทั้งจะให้การสนับสนุนเมื่อได้รับการร้องขอ
  5. ครูเป็นบุคลากรที่สำคัญที่สุดในการนำหลักสูตรไปใช้ ดังนั้นครูจะต้องได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่และจริงจัง เริ่มตั้งแค่การอบรมให้ความรู้ ความเข้าใจทักษะ และเจตคติเกี่ยวกับการใช้หลักสูตรอย่างเข้มแข็ง การให้การสนับสนุนด้านปัจจัยต่างๆ แก่ครู และพัฒนาตัวครูเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสอน
  6. การนำหลักสูตรไปใช้ ควรจัดตั้งให้มีหน่วยงานที่มีผู้ชำนาญการพิเศษ เพื่อให้การสนับสนุนและพัฒนาครู โดยทำหน้าที่นิเทศ ติดตามผลและควรปฏิบัติงานร่วมกับครูอย่างใกล้ชิด
  7. หน่วยงานและบุคลากรในฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนำหลักสูตรไปใช้ไม่ว่าจะเป็นส่วนกลางหรือส่วนท้องถิ่น ต้องปฏิบัติงานในบทบาทหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่และเต็มความสามารถ
  8. การนำหลักสูตรไปใช้สำหรับผู้ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทุกหน่วยงานจะต้องมีการติดตามและประเมินผลเป็นระยะๆ ซึ่งจะต้องกำหนดไว้ในแผนปฏิบัติการ ทั้งนี้เพื่อจะได้นำข้อมูลต่างๆ มาประเมิน วิเคราะห์ เพื่อพัฒนาทั้งในแง่ของการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและการวางแนวทางในการนำหลักสูตรไปใช้ให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น