วันอาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

14. การประเมินผลหลักสูตร




การประเมินหลักสูตร

            การประเมินหลักสูตรเป็นกระบวนการค้นหาข้อมูล เก็บข้อมูลเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการตัดสินหาทางเลือกที่ดีกว่าเดิม พิจารณาเกี่ยวกับคุณค่าของหลักสูตร โดยใช้ผลจากการวัดในแง่มุมต่างๆ ของสิ่งที่ประเมินเพื่อนำมาพิจารณาร่วมกัน

แนวคิดการประเมินหลักสูตร

            การประเมินหลักสูตรเริ่มต้นในปี ค.ศ. 1444 เมื่อมีการทำสัญญาระหว่างผู้ปกครองเมือง Treviso กับครูใหญ่ของโรงเรียน เพื่อประเมินค่าจ้างของครูใหญ่ตามระดับการได้รับความรู้ของนักเรียน โดยวัดจากแบบวัดที่สร้างขึ้น ในศตวรรษที่ 18 มีการใช้ผลการประเมินผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นของหลักสูตรเป็นตัวกำหนดการให้ผลตอบแทน (รางวัลหรือโทษ) จะรู้จักกันดรในรูปแบบของ “Payment By Results” (PBR) โดยมีข้อตกลงว่า นักเรียนทุกคนเกิดการเรียนรู้ได้ถ้าได้รับการสอนอย่างเหมาะสม การประเมินหลักสูตรในช่วงนี้ใช้แบบทดสอบวัดผลลัพธ์ของหลักสูตร คือ ผลการเรียนรู้ของนักเรียน เป็นการทดสอบที่เรียกว่า “High Stake Test” ซึ่งมีอิทธิผลต่อพฤติกรรมของครูและนักเรียน

            ช่วงหลังศตวรรษที่ 19 ธอร์นไดค์ (Thorndike) ได้นำแนวคิดเชิงวิทยาศาสตร์เข้ามาใช้ในการวัดผลการเรียนรู้ โดยมองว่าผลลัพธ์ที่สำคัญของการศึกษา คือ การเปลี่ยนแปลงของนักเรียนที่ต้องสามารถวัดเป็นปริมาณได้ และจากปริมาณที่วัดได้จะบอกให้ทราบถึงความรู้ที่แต่ละคนได้รับจากหลักสูตร ซึ่งแนวคิดนี้ได้มองข้ามสิ่งที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของการนำหลักสูตรไปใช้ในโรงเรียน เช่น กระบวรการถ่ายทอดความรู้ และระบบต่างๆ ภายในโรงเรียน สนใจเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเด็กเท่านั้น ในช่วงนี้เองแนวคิดพฤติกรรมนิยม ปฏิบัติการนิยม และการทดสอบได้กลายเป็นส่วนประกอบที่จำเป็นของหลักสูตร

            หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการขยายตัวทางการศึกษา การประเมินที่เป็นที่นิยมแพร่หลาย คือ การประเมินตามจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม ของ ราล์ฟ ไทเลอร์ (Ralph Tyler) เป็นผู้ที่ริเริ่มให้คำนิยามของการศึกษาว่า “การศึกษาคือการเปลี่ยนพฤติกรรม” ดังนั้นการประเมินผลหลักสูตรจึงมุ่งไปที่การเปลี่ยนแปลงเป็นจุดสำคัญ ตัวอย่างการประเมินหลักสูตรที่จัดได้ว่าเป็นงานชิ้นสำคัญ คือ การประเมิน “Eight Year Study” ของไทเลอร์ ที่มีการกำหนดจุดประสงค์ของการพัฒนาประสบการณ์เรียนรู้ เป็นจุดประสงค์เชิงพฤติกรรมตามแบบของบลูม (Bloom) และนำไปใช้ในการประเมินว่าหลักสูตรให้ความสำคัญกับจุดประสงค์นั้นเพียงใด ซึ่งแนวคิดนี้ได้รับการยอมรับว่ามีเหตุผลและวัดได้

            โดยสรุปแนวคิดการประเมินหลักสูตร คือ

  1. การประเมินตามจุดประสงค์ (Goal – based) เป็นการตัดสินใจตามจุดประสงค์ของการศึกษา หรือโปรแกรมการฝึกอบรม
  2. การประเมินที่ไม่ยึดจุดประสงค์ (Goal – free) การตัดสินใจที่มีความเป็นอิสระจากผลที่เกิดจากโอกาสทางการศึกษาหรือโปรแกรม
  3. การประเมินตามหน้าที่ (Responsive) เป็นการเปรียบเทียบความมุ่งมั่นในการสอนและผลที่เกิดขึ้นจริงที่สังเกตได้
  4. การประเมินที่มุ่งการตัดสินใจ (The decision – making) เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาหรือโปรแกรมการฝึกอบรม โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อการตัดสินใจยุติหรือดำเนินการต่อไป
  5. การประเมินเพื่อการรับรอง (The accreditation) เป็นการตัดสินใจเกี่ยวกับการรับรองเกี่ยวกับกระบวนการของการพัฒนาวิชาชีพในการจัดการศึกษาหรือโปรแกรมการฝึกอบรม

ความหมายของการประเมินหลักสูตร

            คำจำกัดความของการประเมินผลที่ยอมรับกันกว้างขวาง ซึ่งปรากฏในงานเขียนของ Stake (1967), Provus (1969) and Stufflebeam and others (1971) คือ แนวคิดเกี่ยวกับการประเมินหลักสูตรว่า “การประเมินผลหลักสูตร คือ กระบวนการในการกำหนดและเก็บรวบรวมข้อมูลสารสนเทศ เพื่อที่จะนำมาใช้ในการตัดสินหาทางเลือกอื่นที่ดีกว่าเดิม”

            ครอนบัค (Cronbach) เขียนนิยามของการประเมินผลหลักสูตรในวารสาร Teachers College Record ว่า “การประเมินผลตามหลักสูตร หมายถึง การรวบรวมข้อมูลและการใช้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจในเรื่องของโปรแกรมหรือหลักสูตรการศึกษา”

            ออร์นสไตน์และฮันกิน (Ornstein and Hunkins) นิยามคำว่า การประเมินหลักสูตร หมายถึง กระบวนการหรือชุดกระบวนการที่บุคคลจัดทำขึ้นเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อตัดสินใจยอมรมับ เปลี่ยนแปลง หรือขจัดบางสิ่งบางอย่างในหลักสูตร โดยทั่วไปหรือรายละเอียดของตำราการศึกษา

การวางแผนพัฒนาการศึกษาและบทบาทการประเมินผล

  1. แผนพัฒนาการศึกษาและการประเมินผล

  • ขั้นการกำหนดวัตถุประสงค์ของการพัฒนา ซึ่งมาจากปัญหาและความต้องการทางการศึกษา
  • ขั้นกำหนดเป้าหมายของการพัฒนา
  • ขั้นกำหนดนโยบายและแนวทางในการพัฒนา
  • ขั้นการจัดทำแผนและโครงการ
  • ขั้นการนำแผนไปปฏิบัติ
  • ขั้นการประเมินแผนเพื่อปรับแผน และการจัดแผนใหม่
      2.     บทบาทการประเมินผล

บลูม และคณะ ได้แจงให้เห็นบทบาทของการประเมินผลที่จะนำมาใช้ในการศึกษา (อินทร์ ศรีคุณ 2522, น. 27 – 28)

  • การประเมินผลเป็นวิธีการที่จะได้รับหลักฐานและนำไปใช้ในการปรับปรุงการเรียนการสอน
  • การประเมินผลให้หลักฐานที่ครอบคลุมกว้างกว่าการทดสอบที่ใช้กันตามปกติในห้องเรียน
  • การประเมินผลเป็นเครื่องช่วยขยายความสำคัญของเป้าหมายและจุดประสงค์ของการศึกษา เป็นกระบวนการที่จะช่วยให้ทราบว่าผู้เรียนได้เจริญงอกงามไปตามทางที่ปรารถนานั้น
  • การประเมินผลเป็นระบบการควบคุมคุณภาพ ซึ่งใช้ในการวินิจฉัยคุณภาพของกระบวนการเรียนการสอนในแต่ละขั้นตอนว่ามีประสิทธิภาพเพียงใด ถ้าไม่มีประสิทธิภาพจะต้องปรับปรุงแก้ไขอย่างไรก่อนจะสายเกินไป
  • การประเมินผลเป็นเครื่องมือของการศึกษา โดยใช้พิจารณาประสิทธิภาพทางเลือกของกระบวนการจัดการศึกษาว่าทางใดที่จะนำไปสู่เป้าหมายที่ดีที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น